ข่าวสาร/กิจกรรม
เลขาธิการ สศช. ปาฐกถาพิเศษนำทางชาติ 20 ปี ด้วยโครงการพระราชดำริเพื่อเศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน
วันที่ 16 ธ.ค. 2559
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ  เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษในห้วข้อ "นำทางชาติ 20 ปี ด้วยโครงการพระราชดำริเพื่อเศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน” ในงาน "Thailand Halal Assembly 2016” จัดโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะหน่วยงานที่กำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบในการพัฒนาตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ต่อเนื่องจนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน และสร้างความสมดุลในการพัฒนาตามศักยภาพและความพร้อมของประเทศ โดยอาศัยฐานความรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน ตลอดจนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดวิสัยทัศน์ "ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุขและสนองตอบต่อการบรรลุซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ระดับสูงเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และสร้างความสุขของคนไทย สังคมมีความมั่นคง เสมอภาค และเป็นธรรม ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ ดังพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะที่ปรึกษาเยาวชนและเยาวชนดีเด่น ณ ศาลาผกาภิรมย์ โรงเรียนจิตรลดา เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2513 ความตอนหนึ่งว่า

"...คำว่า พัฒนา ก็หมายถึงทำให้มั่นคง ทำให้ก้าวหน้า การพัฒนาประเทศก็ทำให้บ้านเมืองมั่นคงมีความเจริญ ความหมายของการพัฒนาประเทศนี้ก็เท่ากับตั้งใจที่จะทำให้ชีวิตแต่ละคนมีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข ฉะนั้น จึงเข้าใจได้ว่า การพัฒนาทุกอย่างเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ และความพอใจของแต่ละบุคคลในประเทศ...” และพระราชกระแสรับสั่งแก่เจ้าหน้าที่มูลนิธิชัยพัฒนา จากวารสารชัยพัฒนา ฉบับประจำเดือนสิงหาคม 2542 "...เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานของความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั้นเอง สิ่งก่อสร้างจะอยู่มั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป...”

ในกระบวนการจัดทำแผนหรือยุทธศาสตร์การพัฒนา จะต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจกับสถานการณ์และบริบทการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การกำหนดนโยบายเป็นไปอย่างเหมาะสมเกิดประโยชน์กับประเทศอย่างแท้จริง และนับว่าเป็นพระมหกรุณาธิคุณอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อประเทศชาติจากการวางรากฐานให้ประเทศมีความมั่นคงและมีความเจริญ โดยนับตั้งแต่ปี 2495 – ถึงเดือนกันยายน 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,596 โครงการ ซึ่งสามารถจำแนกด้านการพัฒนาได้ 8 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ 3,148 โครงการ ด้านการเกษตร 166 โครงการ ด้านสิ่งแวดล้อม 169 โครงการ ด้านส่งเสริมอาชีพ 338 โครงการ ด้านสาธารณสุข 55 โครงการ ด้านคมนาคม/สื่อสาร 81 โครงการ ด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา 393 โครงการ และแบบบูรณาการอื่นๆ 246 โครงการ จะเห็นได้ว่าเป็นโครงการที่เอื้อต่อการพัฒนาในทุกๆ มิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต เช่น การทำเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ที่เป็นจักรกลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต

เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า บทบาทของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ จะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ใช้เป็นกรอบการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 นั้น มี 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งนี้ในส่วนของอุตสาหกรรมฮาลาลถือว่าเป็นภาคการผลิตที่มีศักยภาพ และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร การท่องเที่ยวและบริการฮาลาล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศ 

ในส่วนของกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 จะเห็นว่าสินค้าและบริการฮาลาลมีโอกาสทางการตลาดที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ จึงได้กำหนดให้มีแนวทางสนับสนุนให้มีการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร รวมถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีมาตรฐานเฉพาะเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ และการผลิตสินค้าฮาลาล เป็นต้น

ปัจจุบันอุตสาหกรรมฮาลาลนับเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและมีโอกาสทางการตลาดสูงประเภทหนึ่ง โดยพิจารณาจากมูลค่าทางเศรษฐกิจในตลาดโลกที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2556 มีมูลค่าสูงถึง 1.09 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2561 โดยประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลที่สำคัญของโลกจะเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ไม่ใช่กลุ่มประเทศที่เป็นมุสลิม เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น สำหรับประเทศไทย พบว่า ในปี 2558 ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปกลุ่มประเทศมุสลิมมีมูลค่ากว่า 174,566 ล้านบาท และในปี 2559 (มกราคม – กันยายน) ส่งออกสินค้าอาหารมูลค่า 131,925 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 75.57 ของมูลค่าการส่งออกอาหารไปกลุ่มประเทศมุสลิมในปี 2558 ขณะที่แนวโน้มในด้านกำลังซื้อของประชากรมุสลิมก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2557 ประชากรมุสลิมทั้งโลกประมาณ 2,038.04 ล้านคน หรือร้อยละ 28 ของประชากรโลก และอยู่ในภูมิภาคเอเชียถึง 1,389.50 ล้านคน 

ทั้งนี้คาดว่าในปี 2593 ประชากรมุสลิมจะขยายเป็นร้อยละ 50 ของประชากรโลก โดยยังไม่นับรวมถึงตลาดในกลุ่มประชากรที่ไม่ใช่มุสลิมที่สามารถบริโภคสินค้าฮาลาลได้ด้วยอีก ดังนั้น อุตสาหกรรมฮาลาลจึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย

เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมและจุดแข็งที่สำคัญของประเทศไทย สำหรับการขยายส่วนแบ่งในตลาดฮาลาลของโลก พบว่า ประเทศไทยถือว่ามีความเข้มแข็งด้านการผลิตการเกษตรที่เป็นจุดเริ่มการพัฒนาสินค้าฮาลาล ทั้งในด้านทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม และเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก สามารถนำมาใช้บุกเบิกตลาดสินค้าฮาลาลได้ ในช่องทางและรูปแบบการจำหน่ายในลักษณะต่างๆ ตั้งแต่การบริการครัวฮาลาลของโรงพยาบาลและโรงแรม เสื้อผ้า/เครื่องแต่งกายสำหรับชาวมุสลิม เครื่องสำอางค์ การท่องเที่ยว การรักษาพยาบาล การประกันภัย/ประกันชีวิต และธนาคารอิสลาม เป็นต้น

สำหรับด้านการสร้างมาตรฐานฮาลาลของไทยให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการสนับสนุนจากองค์กรศาสนาของไทย คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 39 จังหวัด มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาล ตลอดจนการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ โดยมีการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ การพัฒนาบุคลากร และการให้คำแนะนำปรึกษา เป็นต้น ซึ่งจุดแข็งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศให้เข้มแข็งและเติบโตในตลาดโลกได้

ด้านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล ปัจจุบันมีกลไกคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจและสินค้าฮาลาลแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน ร่วมด้วยหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรศาสนา ร่วมกันดำเนินงาน และมีการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาลของประเทศไทย (พ.ศ. 2559 - 2563) รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการ สำหรับดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีแนวทางที่สำคัญ ได้แก่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศด้านต่างๆ เช่น การใช้แนวทาง "ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรศาสนา การพัฒนาระบบมาตรฐานและระบบข้อมูลฮาลาลตามมาตรฐานสากล การส่งเสริมการผลิตและธุรกิจฮาลาลของผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาล การประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจ และการขยายตลาด โดยเน้นความร่วมมือขององค์กรศาสนาและหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในอนาคตอาจมีการจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งชาติขึ้น เพื่อเป็นแกนกลางในการประสานงานและขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมฮาลาล ซึ่งจะสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป อีกทั้งจะเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและจุดเด่นของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยใน 20 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงมีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยมุสลิม โดยพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งล้วนบรรเทาความเดือดร้อนในด้านต่างๆ และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้อยู่ดีกินดี อาทิ โครงการส่งเสริมอาชีพ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น ช่วยให้มีแหล่งอาชีพ และได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นตามลำดับ จนราษฎรชาวไทยมุสลิมสามารถยกระดับฐานะครอบครัวและมีรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้น อันจะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลในระดับประเทศต่อไป 

เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า โดยสรุปแล้ว การพัฒนาประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และอนาคตอีก 20 ปี เป็นผลพวงจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญอย่างเข้มแข็งและมั่นคงผ่านหลักการทรงงาน พระราชดำรัส และโครงการพระราชดำริต่างๆ ซึ่งเนื้อหาสาระที่ได้จากการจัดงานในครั้งนี้ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการน้อมนำหลักการทรงงานและพระราชดำรัสของพระองค์ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาประเทศในอุตสาหกรรมฮาลาลให้มีความเจริญก้าวหน้าและเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับจนถึงทุกวันนี้ 

ข่าว/รวีวรรณ  เลียดทอง 
ภาพ/ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์