เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ณ ลานนา บอมรูม โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษในห้วข้อ "เชียงใหม่ Connectivity” ในการสัมมนา "เชียงใหม่ Next Step เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน" จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักธุรกิจชาวเชียงใหม่มากกว่า 450 คน เข้าร่วมการสัมมนา
ดร.ปรเมธี กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญของภาคเหนือและประเทศไทย มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีประชากรประมาณ 1.7 ล้านคน มูลค่าทางเศรษฐกิจปี 2557 ประมาณ 200,000 ล้านบาท รายได้โดดเด่นด้านหนึ่งคือการท่องเที่ยวที่สูงมากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ มีนักท่องเที่ยว 9 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยว 82,570 ล้านบาท เป็นสถานที่น่าเที่ยวเป็นอันดับ 2 ของโลก และอันดับหนึ่งของเอเชีย ดังนั้นเรื่องท้าทายในการเป็น Next Step ของเชียงใหม่ คือ ต้องรักษาศักยภาพของจังหวัดที่น่าท่องเที่ยวต่อไป รวมทั้งเป็นสถานที่น่าทำงานและอยู่อาศัย ตลอดจนเที่ยวสนุกและอยู่สบายหรือไม่ เป็นต้น
สำหรับโครงสร้างเศรษฐกิจเชียงใหม่ ภาคบริการถือว่ามีความสำคัญ มีสัดส่วนปี 2557 คือ ร้อยละ 12.3 รายได้ทางการท่องเที่ยวเติบโตสูงเป็นพิเศษ ย้อนไปปี 2554 โรงแรมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 ธุรกิจการค้า ขนส่ง การเดินทาง และการท่องเที่ยว เป็นสาขาที่ค่อนข้างเจริญเติบโต และเป็นโอกาสและรายได้ที่ดีในช่วงที่ผ่านมา ส่วนภาคเกษตรมีประมาณร้อยละ 22 ของเศรษฐกิจ ความมั่นคงที่เป็นฐานสร้างโอกาสและต่อยอดที่ยังมีศักยภาพและไม่ควรละเลย ไม่ควรพึ่งสาขาใดสาขาเดียว ควรมีตัวช่วยและรองรับ ภาคเกษตรที่โดดเด่นและมีบาทบาทมากในระยะหลังปี 2554 คือ ผลไม้ มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 10 ปี จาก 6 แสนไร่ เป็น 7 แสนไร่ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จาก 1,400 ล้านบาท เป็น 25,000 ล้านบาท สตรอเบอรี่และผลไม้ยืนต้นมีการปลูกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ยังไม่รวมพืชผัก ซึ่งน่าจะสร้างความมั่งคั่งน่าอยู่ยั่งยืนได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนเรื่องที่ท้าทายคือปัญหาจราจร เพราะเมืองเศรษฐกิจจะดึงดูดคนเข้ามา ทำให้การจราจรติดขัดตลอดทั้งวันในเส้นหลักของเมือง ระบบขนส่งและการจัดระเบียบของเมืองจึงเป็นความท้าทาย
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้มีการเตรียมการพัฒนาที่สอดคล้องตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ซึ่งต่างกัน ในภาคเหนือมีกลุ่มจังหวัด มีหลายประเด็นที่อยู่ในการพัฒนา เช่น กลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา เชิงธรรมชาติ เป้าหมายการประชุม Mice เชิงกีฬา การผจญภัย การพำนักระยะยาว เศรษฐกิจบริการสร้างสรรค์ มีการคิดและหารือร่วมกันของภาครัฐและเอกชน ส่วนการผลิตเกษตรอินทรีย์ ผักผลไม้ มีเชียงใหม่อยู่ในแผน สังคม ป่า น้ำ และหมอกควัน ผู้สูงอายุ การพัฒนาเมือง สิ่งที่จะเกิดในอนาคตเพิ่มเติม คือ Connectivity ระบบราง หรือการขนส่งที่เป็นหัวใจของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เกี่ยวข้องกับเชียงใหม่ เชื่อมโยงภาคกลางมาสู่เชียงใหม่โดยอาศัยระบบรางที่ปัจจุบันยังไม่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีแผนในระยะเวลาอันใกล้คือ การพัฒนารถไฟรางคู่ในหลายช่วงจากลพบุรี-ปากนำโพ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 เส้นปากน้ำโพ-เด่นชัย กำหนดเปิดให้บริการปี 2564 หมวดรถไฟรางคู่จะรวดเร็วปลอดภัยขึ้น ช่วงนี้มีการนำรถคันใหม่มาวิ่งบริการให้สะดวกขึ้นในระดับหนึ่งก่อน
นอกจากนี้ โครงการรถไฟในรางมาตรฐาน ทำให้รถไฟวิ่งได้ในความเร็วสูงขึ้น ในแผนจะเชื่อมจากกรุงเทพมหานคร-เชียงใหม่ ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะนี้อยู่ระหว่างความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งการศึกษาความเหมาะสมโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2559 แต่การลงทุนยังต้องรอการพัฒนาซึ่งมีเรื่องที่ต้องพิจารณาคือ มูลค่าการลงทุน ผลตอบแทน ราคา การชดเชยที่ต้องทำเพิ่มเติมให้โครงการเกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์การศึกษาภายในปีนี้ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการอยู่ แต่คงต้องใช้เวลาเพราะลงทุนกว่า 5 แสนล้าน
ดังนั้น จากศักยภาพที่มีอยู่สูงของจังหวัดเชียงใหม่ย่อมมีความเชื่อมโยง หรือ Connectivity แน่นอน รวมทั้งโอกาสในการเติบโตต่อไป แต่จะใช้โอกาสได้เหมาะสมกับการลงทุนเพียงใด คนเชียงใหม่อยากได้หรือไม่ และจะรองรับอย่างไร เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ และประชากรเชียงใหม่ 1.7 ล้านคนจะสร้างความเข้มแข็งจากภายในหรือจากจังหวัดในการสร้างและแปลงโอกาสให้เป็นผลตอบแทนได้สำเร็จนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นกับวิสัยทัศน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่นั่นเอง เลขาธิการ สศช. กล่าวในตอนท้าย
หลังจากนั้นมีการบรรยายพิเศษเรื่อง "ดิจิทัล-โลกใบใหม่ธุรกิจไทย” โดย นายเรืองโรจน์ พูนผล การเสวนาพิเศษหัวข้อ "สร้างธุรกิจให้ติดลม” โดย นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด นายธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรรมการผู้จัดการบริษัท JM Cuisine นางสาวบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด โดยมี นายสรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ข่าว/รวีวรรณ เลียดทอง
ภาพ/ประชาชาติธุรกิจ
|