ข่าวสาร/กิจกรรม
29 พฤศจิกายน 2559 ครบรอบ 17 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทาน “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” สู่ความสุขอย่างยั่งยืนของคนไทย
วันที่ 29 พ.ย. 2559
ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 นี้ นับเป็นวันครบรอบ 17 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชได้พระราชทานนิยามความหมาย "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” แก่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเผยแพร่แก่ปวงชนชาวไทยทุกระดับ ทุกสาขาอาชีพ น้อมนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและพัฒนาประเทศ โดย สศช. ได้เผยแพร่และขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ 

พระราชทานนิยามความหมาย "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” 

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำรัสชี้แนะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตและวิถีปฏิบัติแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 40 ปี และได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ตลอดจนใช้คุณธรรม ความรู้ และดำเนินชีวิตด้วยความเพียร เพื่อป้องกันให้รอดพ้นจากวิกฤต และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ 

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการวางแผนของประเทศตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ มาร่วมกันพิจารณากลั่นกรองพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียง สรุปเป็นนิยามความหมาย "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และนำความกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไข และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ สศช. นำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนทั่วไป เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542ซึ่งจะครบ 17 ปี ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559

ทั้งนี้ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระราชทานให้ความสำคัญกับ "การพัฒนาคน” ในการดำเนินวิถีชีวิตอย่างมั่นคงบนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง ความพอมีพอกิน การรู้จักพอประมาณการคำนึงถึงความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ไม่ประมาท ตระหนักถึงความถูกต้องในหลักวิชามีคุณธรรมเป็นกรอบในการดำเนินชีวิต โดยมีแนวคิดในการทำงานคือ "เข้าใจ เข้าถึง และร่วมพัฒนา”อย่างสอดคล้องกับ "ภูมิสังคม” ที่หลากหลายของระบบภูมินิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ เป็นการมุ่งสู่ "การพึ่งตนเอง” ดำเนินการด้วยความรอบคอบระมัดระวัง "ทำตามลำดับขั้นตอน” มีการทดลองด้วยความเพียรจนมั่นใจ จึงนำไปใช้ประโยชน์ และเผยแพร่สู่สาธารณะ
ขบวนการขับเคลื่อน "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” 

จากการสร้างองค์ความรู้ สู่การตอกย้ำ และขยายผลสู่ทุกภาคส่วนในสังคมภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ สศช. นำ"ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”ไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนทั่วไปสศช. ได้อัญเชิญ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) จนถึงฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) เพื่อนำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งได้เสริมสร้างความเข้าใจไปยังภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เห็นคุณค่า และน้อมนำไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

ต่อมาปลายปี 2546 สศช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น โดยมี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เป็นกลไกหลักในการประสานเครือข่ายทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติให้นำเศรษฐกิจพอเพียงไประยุกต์ใช้ครอบคลุม 8 ภาคส่วน ได้แก่ผู้นำทางความคิดนักวิชาการในระดับอุดมศึกษา สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง องค์กรภาครัฐ สื่อมวลชนและประชาชน ภาคธุรกิจ และชุมชนและประชาสังคมมีการเผยแพร่ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของทุกภาคส่วนอย่างหลากหลาย 

จากนั้นการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10(พ.ศ. 2550-2554)ได้มุ่งขยายเครือข่าย สร้างคน และสื่อสารแบบผสมผสานสู่สาธารณชนโดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจสร้างเครือข่ายเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติกับหน่วยงาน องค์กร ภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประชาสังคม ชุมชน จนถึงระดับครัวเรือน ผ่านกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ แผนชุมชน รวมถึงการศึกษาแนวทางการพัฒนาชุมชนพอเพียงจากกรณีศึกษา 40 หมู่บ้าน เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ผลเพื่อจัดทำคุณลักษณะชุมชนในอุดมคติของไทย ที่มีลักษณะการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 8 ประการ ได้แก่ มีความมั่นคงทางอาหาร มีระบบการผลิตที่เหมาะสมกับภูมิสังคม มีครอบครัวที่อบอุ่นในชุมชนเข้มแข็ง มีสภาพเศรษฐกิจสังคมที่มั่นคง มีความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานมีระบบกลุ่มและองค์กรสวัสดิการ มีกระบวนการเรียนรู้และภูมิปัญญา และ
มีการจัดสรรใช้ประโยชน์ทรัพยากรชุมชนอย่างยั่งยืน โดยได้มีการสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ

นอกจากนี้ สศช. ได้จัดตั้งมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง(มพพ.)ขึ้น เพื่อเป็นกลไกหลักในการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ให้เป็นบรรทัดฐานที่พัฒนาไปสู่มาตรฐานการปฏิบัติของทุกระดับ ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในทุกภาคส่วนและระหว่างภาคส่วนต่างๆทั้งภายในและภายนอกประเทศในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การติดตามความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างชุมชน องค์กร สถาบัน ในภาคส่วนและระหว่างภาคส่วนต่างๆ ตลอดทั้งการเผยแพร่สู่สาธารณะ

ต่อมาในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11(พ.ศ. 2555-2559) สศช. มุ่งขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ให้กว้างขวางมากขึ้น ครอบคลุมทั้งมิติเชิงพื้นที่และกลุ่มภาคส่วนต่างๆ โดยเน้นการพัฒนาความร่วมมือกับภาคีการพัฒนาในการขับเคลื่อนฯ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีบทบาทนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเสริมสร้างสังคม โดยยึดหลักบรรษัทภิบาล เชื่อมโยงเป้าหมายทางธุรกิจกับการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับการตระหนักถึงความรับผิดชอบและความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ชุมชน และสังคมโดยรวม โดยปรับแนวคิดภาคเอกชนให้สามารถทำงานร่วมกับชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันการศึกษาได้อย่างเป็นพันธมิตร และสร้างเครือข่ายความรับผิดชอบทางสังคมของกลุ่มธุรกิจต่างๆ นำไปสู่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกัน และองค์กรธุรกิจเอกชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสาธารณะ

ทุกภาคส่วนร่วมน้อมนำ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” สู่การปฏิบัติ สืบสานพระราชปณิธาน 

ผลจากการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ สศช. ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด โดยการสนับสนุนส่งเสริมด้านองค์ความรู้ การประสานเชื่อมโยงภาคีการพัฒนาต่างๆ การจัดทำรายงานและการเผยแพร่สู่สาธารณะ การติดตามและประเมินผลการพัฒนา รวมทั้งการร่วมขับเคลื่อนการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในบุคคล ครัวเรือน ชุมชน หน่วยงาน องค์กรระดับต่างๆ ส่งผลให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมผลักดันการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบต่างๆ มากมาย อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับภาคีการพัฒนาจัดทำ มอก.9999 เล่ม 1-2556 มาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงหอการค้าไทย ซึ่งได้มีการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านโครงการต่างๆ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย กองทัพไทยและสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจัดประกวดผลงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นการรับรองมาตรฐานรูปแบบต่างๆ ที่มีหลากหลายในภาคธุรกิจที่มีความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีภาคธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ กลาง และย่อม ได้รับรางวัลตัวอย่างความสำเร็จของการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

ภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนา ถอดบทเรียนพร้อมขยายผลสู่กลุ่มต่างๆ  

บทบาทของ สศช. ในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงนี้จึงเป็นช่วงของ การขยายผลการนำใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยมี3กิจกรรมหลักคือ การขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ภาคีการพัฒนาต่างๆ การถอดบทเรียน/แนวทางการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการขยายผลการนำใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

การขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาได้ดำเนินการใน 4กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยร่วมกับ อปท. ที่สมัครใจร่วมขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนท้องถิ่นที่สอดล้องตามบริบทของภูมิสังคม โดยลงนามในข้อตกลงร่วมระหว่าง สศช. มพพ. และ อปท. ในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใน4ภูมิภาคจำนวน 33 อปท. ผลการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชนท้องถิ่นพบว่า เกิด อปท. ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 33 แห่ง เกิดแหล่งเรียนรู้ 327 แหล่ง และมีวิทยากรประจำแหล่งเรียนรู้ 1,353 คน เกิดครัวเรือนต้นแบบ จำนวน 9,662 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 15 ของครัวเรือนในตำบล เกิดองค์กรเครือข่ายที่นำใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ 123 องค์กรเครือข่ายหรือตำบล เกิดผู้นำการเปลี่ยนแปลง 871 คน และเกิดข้อตกลงร่วมระหว่าง มพพ. กับ อปท. 65 เรื่อง 

ในส่วนของภาคธุรกิจเอกชน สศช. ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ และหอการค้าไทย โดยสนับสนุนการขับเคลื่อนของกลุ่มธุรกิจเอกชน ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 3 แผนงาน คือ แผนงานสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ การรวบรวมข้อมูลงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจเอกชน รวมทั้งผลการดำเนินงานขับเคลื่อนฯ ขององค์กรธุรกิจ แผนงานเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดยได้จัดทำข้อตกลงกับ 7 องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ขยายผลการนำใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ธุรกิจSupply Chain ได้แก่ เอสซีจี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และกลุ่มมิตรผล เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภาคธุรกิจเอกชน โดยการดำเนินงานทั้งภายในองค์กร รวมทั้งส่งเสริมขยายผลสู่องค์กรธุรกิจในเครือข่าย Supply Chain และมีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภาคธุรกิจเอกชนอย่างยั่งยืนเป็นกลไกการขับเคลื่อนฯ 

นอกจากนี้ ได้ร่วมกับหอการค้าไทยขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมในภูมิภาค โดย สศช.ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมทั้งการจัดทำโครงการอบรมนักธุรกิจรุ่นใหม่หัวใจพอเพียง โครงการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน ตลอดจนโครงการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมในภูมิภาคร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงตามนโยบายรัฐบาลสู่ภาคธุรกิจ บริการ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และผู้ประกอบการรายย่อย

ภาคการศึกษา มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการประยุกต์ใช้ในการจัดกระบวนการเรียนการสอน โดยการพัฒนาสถานศึกษาพอเพียง และโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้สามารถทำบทบาทหน้าที่เป็นต้นแบบในการขยายผลโรงเรียนและสถานศึกษาพอเพียงแก่โรงเรียนอื่นๆ โดย สศช. ได้มีการทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา เยาวชน และอื่นๆ เพื่อมุ่งสู่มาตรฐานการขับเคลื่อนและการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทุกระดับอย่างกว้างขวาง กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ประกอบด้วย การทำข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และกระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา เยาวชน และอื่นๆ และร่วมกันพัฒนาเครื่องมือประเมิน "โรงเรียนศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” ส่งผลให้ในปี 2558มีสถานศึกษาพอเพียงที่ผ่านการประเมินจากเครื่องมือดังกล่าวเป็นโรงเรียนศูนย์เรียนรู้ฯ ที่พร้อมทำหน้าที่เป็นต้นแบบและขยายผลรวม 68 โรงเรียนกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเทียบกับ 13 โรงเรียนที่มีในปี 2554

ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการได้พัฒนาโรงเรียนให้เป็นสถานศึกษาพอเพียง ที่มีการนำแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการเรียนการสอนที่มุ่งสู่การมีวิถีชีวิตแบบพอเพียงให้กับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษารวมแล้วปัจจุบันปี 2558 จำนวน16,000โรงเรียน เทียบกับ1,261โรงเรียนในปี2552จากจำนวนโรงเรียนที่มีอยู่ทั้งประเทศกว่า40,000โรงเรียน นอกจากนี้ ได้มีการทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ปี2555 เพื่อดำเนินงานโครงการแคมป์สนุกคิดกับอินทัช "เยาวชนพอดี โรงเรียนพอเพียง” รวม 35 แห่งใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีตัวอย่างโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน ที่สามารถเป็นต้นแบบในการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงชุมชน ได้แก่โครงการกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ โรงเรียนบ้านไผ่โทน (นวลราษฏร์วิทยา) จังหวัดแพร่โครงการสวนไผ่เลี้ยงครบวงจร โรงเรียนอนุบาลหนองควาย จังหวัดหนองคายโครงการสถานีทดลองพันธุ์ข้าว โรงเรียนชุมชนวัดดักคะนน จังหวัดชัยนาท และโครงการแหล่งอนุรักษ์ผักพื้นบ้าน โรงเรียนบ้านกะปง จังหวัดพังงา

กลุ่มเด็กและเยาวชน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้เป็นเครื่องมือนำความรู้ที่ผ่านการสังเคราะห์ให้เป็นองค์ความรู้ที่มีมาตรฐานบรรทัดฐานในระดับเดียวกัน และใช้การสร้างผู้นำ วิทยากรเศรษฐกิจพอเพียง และภาคีเครือข่ายต่างๆ ร่วมเผยแพร่ขยายผลนำหลักปรัชญาฯ ไปปฏิบัติผ่านกิจกรรม งาน โครงการในมิติต่างๆ ให้เกิดเป็นวิถีการดำเนินชีวิตในชุมชน สังคม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับตนเอง รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยดำเนินงานผ่านโครงการและกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ โครงการเพิ่มศักยภาพแกนนำสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การมีสุขภาวะที่ดีในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างองค์ความรู้ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการประยุกต์ใช้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายในกลุ่มแกนนำสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด ส่งผลให้เกิดแกนนำและเครือข่ายแกนนำสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดที่พร้อมทำหน้าที่พัฒนาการสร้างสุขภาวะที่ดีบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับภูมิสังคมให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่รวม 84 คนใน 77 จังหวัด รวมทั้งยังมีนวัตกรรมการถ่ายทอดความรู้การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบของเอกสารสื่อสิ่งพิมพ์เรื่อง "กระตุกต่อมคิด ชีวิตพอเพียง : การคิดอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” สำหรับใช้เป็นคู่มือในการพัฒนาทักษะด้านการคิดของเด็กและเยาวชน 

โครงการการขับเคลื่อนประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่กลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านการลงมือปฏิบัติ สร้างเครือข่ายเยาวชนพอเพียง ซึ่งการจัดทำโครงการจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ยิ่งจำนวน 24โครงการจากเป้าหมาย 28 โครงการ ขณะที่อีก 4 โครงการถึงแม้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็สามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในเรื่องของการทำงานที่ต้องใช้ความรอบคอบระมัดระวัง ความเพียร การทำอะไรที่ไม่เกินตัว ความสำคัญของการทำงานเป็นทีม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมในโครงการได้รวมมากกว่า 200 คน มีสถานศึกษาเข้าร่วมเป็นเครือข่ายมากกว่า 60 แห่งรวมทั้งมีนวัตกรรมการถ่ายทอดความรู้และการขยายเครือข่ายการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่กลุ่มเด็กและเยาวชนถึง 28 รูปแบบ

แนวทางการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12

สศช. ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12ได้แก่

1. การกำหนดยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะการส่งเสริมความเข้าใจและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนฯ ที่สอดรับกับวาระการพัฒนาระดับโลกในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ซึ่งรวมถึงการถอดบทเรียนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อขยายผลสู่การพัฒนาระดับโลก เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การพัฒนาของประเทศอื่นๆ 

2. การขยายผลการนำใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก/ชุมชนเข้มแข็ง รวมทั้งขยายผลการนำใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดความยั่งยืน โดยการสร้างเครือข่ายนักวิชาการ พัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่กลุ่มองค์กรเครือข่าย ชุมชน และครอบครัวต้นแบบภายในตำบล และจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่กลุ่มตำบลเครือข่ายที่สนใจ 

3. การขับเคลื่อนการพัฒนาโดยใช้ทุนทางสังคม รวมถึงการจัดการความรู้ภายใต้กระบวนการ
มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมในการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับการพัฒนาในมิติต่างๆ รวมทั้งการจัดทำแผนที่การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการจัดทำสื่อสาธารณะ ขยายผลการนำใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดความยั่งยืน 

ทั้งนี้ สศช. จะมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นศูนย์กลางการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ การพัฒนาทุนทางสังคมให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเป็นศูนย์กลางของการจัดการความรู้ การถอดบทเรียน การจัดทำสารสนเทศ เพื่อการสื่อสารกับสาธารณะในรูปแบบและเนื้อหาต่างๆ โดยมีภารกิจหลักได้แก่ การจัดทำยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากชุมชนเข้มแข็ง และเชื่อมโยงขับเคลื่อนทุนทางสังคม 

นานาประเทศเทิดพระเกียรติคุณ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงยึดหลักการทรงงานในลักษณะเน้นการพัฒนา"คน”  ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยไม่ทรงเลือกว่าเขาเหล่านั้นเป็นใคร จึงมิได้มีแต่เพียงปวงชนชาวไทยเท่านั้นที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่เปรียบมิได้ แต่ยังเป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศทั่วโลก ต่างยกย่องสรรเสริญพระเกียรติคุณและได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรางวัลเกียรติคุณมากมาย 

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 นายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าและทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญ "Lifetime Achievement Award on Human Development” ซึ่งเป็นรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ และกราบบังคมทูลว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะกับประเทศไทย แต่เป็นประโยชน์กับทุกประเทศที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน 

นอกจากนี้ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ได้จัดทำรายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย ปี 2550 : เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาคน (Thailand Human Development Report : Sufficiency and Human Development)และเผยแพร่ไปทั่วโลก เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลสมัยทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี  

เอกสารเผยแพร่ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และแนวพระราชดำริการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ

สศช. ได้น้อมนำหลักปรัชญาฯ และอัญเชิญพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในวาระโอกาสต่างๆ ตลอดจนแนวพระราชดำริการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่เพื่อช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงหลักการทรงงาน และแนวพระราชดำริการพัฒนาประเทศดังกล่าว โดยบางเล่มได้จัดทำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เห็นคุณค่าและยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็ง และร่วมกันพัฒนาประเทศสู่ "สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

โอกาสนี้ จึงขอเชิญทุกท่านร่วมน้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติในการดำเนินชีวิตและการทำงาน รวมทั้งเผยแพร่แก่เครือข่าย เพื่อเป็นการร่วมสานต่อพระราชปณิธานให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและประเทศชาติต่อไปโดยสามารถดาวน์โหลดหนังสือ28 เล่ม ได้ทางเว็บไซต์ nesdb.go.th เช่น "พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา”"สัจธรรมแห่งแนวพระราชดำริ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”"เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง”"การประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง”"จากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ... กว่า 1 ทศวรรษ”"ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจเอกชน” เป็นต้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์