ข่าวสาร/กิจกรรม
ผลการประชุมเวทีหารือระดับสูงระหว่างหน่วยงานวางแผนระดับประเทศในสมาชิกอาเซียน 
วันที่ 21 ต.ค. 2559
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเวทีหารือระดับสูงระหว่างหน่วยงานวางแผนระดับประเทศในสมาชิกอาเซียน (ASEAN High-Level Development Planning Conference) ณ โรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ร่วมหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานวางแผนในประเทศสมาชิกอาเซียน ๘ ประเทศ และผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๔๐ คน 

แผนพัฒนาประเทศของสมาชิกอาเซียน 

ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่มีการจัดทำวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยมีช่วงเวลาระหว่าง ๒๐-๕๐ ปี ทั้งนี้เกณฑ์การกำหนดระยะเวลาของยุทธศาสตร์จะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเทศ สำหรับแนวทางการกำหนดวิสัยทัศน์ระยะยาว ส่วนใหญ่จะกำหนดเป็นเป้าหมายสั้น ๆ ที่สะท้อนเฉพาะบางมิติของการพัฒนาที่ต้องการมุ่งเน้นให้เด่นชัด และใช้แผนพัฒนาประเทศระยะสั้น (๕ ปี) เป็นเครื่องมือในการดำเนินการไปสู่เป้าหมาย อาทิ การกำหนดเป็นประเทศพัฒนาแล้วของมาเลเซียภายในปี ๒๕๖๓ การพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุดภายในปี ๒๕๖๓ ของ สปป.ลาว เป็นต้น ประเทศต่าง ๆ ใช้กลไกในลักษณะของกรรมการระดับชาติ หรือสภาระดับชาติ ในการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาว โดยไม่มีกฎหมายรองรับการนำแผนพัฒนาฯ ระยะสั้นไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และมีเพียงกัมพูชาที่ยังไม่เคยมีการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศระยะยาว แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเริ่มดำเนินการ สรุปแผนพัฒนาประเทศรายประเทศ ได้ดังนี้ 

ประเทศไทย กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (๒๕๖๐-๒๕๗๙) โดยมุ่งเน้นให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุข และตอบสนองต่อการบรรลุซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ โดยประกอบด้วย ๖ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (๑) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน (๒) การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน (๓) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคม (๔) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (๕) ความมั่นคง และ (๖) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยนำหลักการตามกรอบยุทธศาสตร์ฯ ๒๐ ปีมากำหนดเป็นแผนพัฒนาประเทศระยะ ๕ ปี 

ทั้งนี้ ไทยได้เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ ซึ่งประกอบด้วย ๑๐ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (๑) การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ (๒) การสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม (๓) การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (๔) การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (๕) การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน (๖) การบริหารจัดการในภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบและธรรมาภิบาล (๗) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ (๘) การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม (๙) การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ และ (๑๐) ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา

บรูไน กำหนดวิสัยทัศน์บรูไนฯ ๒๕๗๘ (Vision Brunei 2035) ใช้ควบคู่ไปกับแผนพัฒนาระยะกลาง ๕ ปี โดยให้ความสําคัญกับการพัฒนาภาคเศรษฐกิจที่มิใช่น้ำมันและก๊าซ เพื่อปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมันและก๊าซเป็นหลัก ไปสู่โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) การพัฒนาระบบการศึกษาและสร้างแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง (๒) การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ และ (๓) การสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมีพลวัตร ปัจจุบันบรูไนอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐ (๒๕๕๖-๒๕๖๐) ซึ่งตั้งเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมประเทศ เพื่อความเจริญอย่างยั่งยืน โดยให้ความสําคัญกับปัจจัยพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งด้านการศึกษา ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่พลังงาน รวมทั้งการต่อยอดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมพลังงานขั้นต้นและขั้นกลาง ทั้งนี้ การศึกษา ถือเป็นปัจจัยสําคัญในการสร้างรากฐานการพัฒนาประเทศ โดยเน้นที่เทคโนโลยีสารสนเทศ และมีกรอบการพัฒนา ๖ ด้าน ได้แก่ การศึกษา การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรให้อยู่ในระดับสูง การอำนวยความสะดวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความรู้และนวัตกรรมก้าวหน้า การพัฒนาระบบบริหารงานภาครัฐและการส่งเสริมธรรมาภิบาล และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง

กัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ฉบับที่ ๓ (3rd National Strategic Development Plan 2014-2018) ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนา ๔ ประเด็น ได้แก่ (๑) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่คงที่ เฉลี่ยร้อยละ ๗ ต่อปี ให้มีความยั่งยืน ครอบคลุม เป็นธรรม และสามารถปรับตัวและแข่งขันในเวทีโลกได้ (๒) การสร้างงานและสร้างอาชีพ โดยเฉพาะแก่เยาวชน (๓) การลดความยากจนลงอย่างน้อยร้อยละ ๑ ในแต่ละปี และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กัน และ (๔) การเสริมสร้างความสามารถทางสถาบันและการปกครอง ในระดับชาติและระดับภูมิภาค ขณะนี้ กัมพูชากำลังอยู่ระหว่างการร่างวิสัยทัศน์ ๒๕๙๓ (Vision 2050) เพื่อให้กัมพูชาก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงและประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญ ๓ เรื่อง คือ (๑) การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพที่สามารถแข่งขันได้ในประเทศและระดับโลก (๒) การสร้างสังคมที่มีความปรองดองอย่างยั่งยืน และ (๓) การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในระยะยาว ทั้งในเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างขีดความสามารถของกำลังแรงงานที่มีแรงงานอายุน้อยจำนวนมาก ประกอบกับการจัดระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนรุ่นใหม่

สปป.ลาว ได้กำหนดวิสัยทัศน์ระยะยาว ๒๕๗๓ (Vision 2030) โดยตั้งเป้าหมายการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุดภายในปี ๒๕๖๓ และก้าวสู่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลาง เน้นการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนภายในปี ๒๕๗๓ ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้มากกว่าร้อยละ ๗.๖ โดยจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ ๑๐ ปี ระหว่างปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๘ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกับสังคมและวัฒนธรรม บนพื้นฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สำหรับการพัฒนาในระยะสั้น จะใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นกลไกหลักในการดำเนินงานภายในระยะเวลา ๕ ปี (๒๕๕๙-๒๕๖๓) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ ที่มุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและความสงบสุขในสังคม การลดความยากจน การหลุดพ้นจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มการมีส่วนร่วมในการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยแบ่งออกเป็น ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (๒) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (๓) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ (๔) การกำกับดูแลจากภาครัฐ

มาเลเซีย กำหนดวิสัยทัศน์ ๒๕๖๓ (Vision ๒๐๒๐) ระหว่างปี ๒๕๓๔-๒๕๖๓ มุ่งสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ในปี ๒๕๖๓ ปัจจุบันมาเลเซียอยู่ระหว่างการใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๑ (๒๕๕๙-๒๕๖๓) ที่ให้ความสำคัญกับประชาชน (People Economy) และทุนทางเศรษฐกิจ (Capital Economy)ซึ่งประกอบด้วย ๖ ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ (๑) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อมุ่งสู่สังคมที่มีความเป็นธรรมและเท่าเทียม (๒) การปรับปรุงความอยู่ดีกินดีของประชาชนทุกภาคส่วน (๓) การมุ่งพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว (๔) การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน และความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลง (๕) การเสริมสร้างความเข้มแข็งโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์และอินเทอร์เนต และ (๖) การปรับเปลี่ยนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่ง ปัจจุบันมาเลเซียให้ความสำคัญกับภาคบริการอย่างต่อเนื่อง โดยจะส่งเสริมการค้าบริการที่มีมูลค่าสูง การท่องเที่ยว และการบริการวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ ในแผนพัฒนาฯ ฉบับปัจจุบันยังได้กำหนดปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Game Changers) ไว้อีก ๖ ปัจจัย ได้แก่ (๑) การยกระดับครัวเรือนที่มีรายได้ร้อยละ ๔๐ ล่าง (๒) การดำเนินการเศรษฐกิจสีเขียวอย่างจริงจัง (๓) การส่งเสริมการศึกษาระดับเทคนิคอาชีวะ และการฝึกอบรมในภาคอุตสาหกรรม (๔) การส่งเสริมผลิตภาพการเพิ่มผลผลิต (๕) การปฏิรูปนวัตกรรมเพื่อความมั่งคั่ง และ (๖) การพัฒนาและสร้างเมืองที่มีความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาภายหลังปี ๒๕๖๓ ใน ๓ มิติ คือ (๑) มิติเศรษฐกิจ โดยกำหนดเป้าหมายที่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าและทั่วถึง (๒) มิติด้านสิ่งแวดล้อม 
โดยมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม และ (๓) มิติด้านประชาชน ที่ให้ความสำคัญกับการรวมความหลากหลายเชื้อชาติให้เป็นหนึ่ง กำหนดเอกลักษณ์ของชาติที่มั่นคง และค่านิยมที่ยอมรับร่วมกัน

เมียนมา กำหนดให้แผนพัฒนาประเทศปี ๒๕๕๔-๒๕๗๓ (National Comprehensive Development Plan 2011-2030) เป็นแผนพัฒนาฯ ระยะยาว ๒๐ ปี เป็นกรอบทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ความเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรืองและบูรณาการเข้ากับประชาคมโลกครอบคลุมแผนงานที่สามารถบรรลุผลได้ในทันที และแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว รวมทั้งการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการลดปัญหาความยากจน ควบคู่ไปกับการบรรลุตามพันธกิจสากล เช่น วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ๒๕๖๘ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยแบ่งระยะเวลาดำเนินงานออกเป็น ๔ ช่วงๆ ละ ๕ ปี ได้แก่ ระยะที่ ๑ ปี ๒๕๕๔-๒๕๕๘ มุ่งเน้นเรื่องการปฏิรูปทางการเมือง การสร้างเสถียรภาพความมั่นคง ความปรองดองภายในประเทศ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม การปฎิรูปสถาบันภาครัฐ และการส่งเสริมการพัฒนาภาคเอกชน ระยะที่ ๒ ปี ๒๕๕๙-๒๕๖๓ เพิ่มการพัฒนารายสาขา เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาการค้าชายแดน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาระบบการทำการเกษตรสมัยใหม่ และการเพิ่มระบบการส่งกระแสไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมซึ่งจะนำไปสู่การลด
ความยากจน ระยะที่ ๓ ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๘ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการเชื่อมโยง เสริมสร้างระบบนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และกระจายอำนาจการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจและสังคมสู่ท้องถิ่น และระยะที่ ๔ ปี ๒๕๖๙-๒๕๗๓ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนให้มากขึ้น พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและเกษตร และการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีขั้นสูง 
ฟิลิปปินส์ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ระยะยาวระหว่างปี ๒๕๖๐-๒๕๘๓ (AmBisyon Natin 2040) เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาประเทศฟิลิปปินส์ใน ๒๕ ปีข้างหน้า ได้ยึดหลักการวางแผนพัฒนาและการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ และเป็นแนวทางสำหรับการมีส่วนร่วมของหุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายการพัฒนา ได้แก่ (๑) รักษาอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม (๒) เพิ่มบริการด้านสาธารณสุขและสร้างหลักประกันรายได้ให้เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง (๓) ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี รวมถึงการวิจัยพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรม และ (๔) สร้างความสามัคคีในความหลากหลายของคนในชาติ เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและความสงบสุขในสังคม

เวียดนาม ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาปี ๒๕๗๘ (Vietnam 2035) เน้นหลักการ ๔ ประการ ได้แก่ การสร้างความมั่งคั่ง การส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความเท่าเทียม และความเป็นประชาธิปไตย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความทันสมัยและยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนให้สูงขึ้น โดยให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ดังนี้ (๑) ความต่อเนื่องในการปฏิรูปและสร้างสรรค์การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีธรรมาภิบาล (๒) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุณภาพและศักยภาพในการแข่งขัน (๓) ยึดหลักนิติธรรมในการปกครองที่ส่งเสริมความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และเอื้อให้ทุกภาคส่วนเข้าสู่ตลาดอย่างทั่วถึง (๔) การใช้ทรัพยากรภายในประเทศให้เต็มศักยภาพและยั่งยืน รวมทั้งเชื่อมโยงกับประชาคมโลก (๕) การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการปรับปรุงแรงงานการผลิต (๖) การพัฒนาสู่เศรษฐกิจบนความรู้ ๔ ด้าน (การศึกษาและแรงงานฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีสารสนเทศล้ำหน้า และสถาบันเศรษฐกิจที่ทันสมัย) (๗) กฎหมายรองรับการแข่งขันที่เป็นธรรม (๘) ส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน
ทุกรูปแบบ และ (๙) การปฏิรูปเศรษฐกิจที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรม การผลิตและบริการให้มีคุณภาพและมูลค่าสูง พัฒนาผู้ประกอบการ เน้นตลาดภายในประเทศ และการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ

แนวทางการพัฒนาประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ในส่วนของการหารือเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาประเทศในอนาคตเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และบริบทการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค ในภาพรวม แต่ละประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาให้บรรลุตามเป้าหมาย SDGs ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลและรับผิดชอบการขับเคลื่อนตามเป้าหมาย SDGs (ยกเว้นเมียนมาที่ยังให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) โดยคณะกรรมการที่รับผิดชอบจะประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้เสีย และมีหน่วยงานวางแผนเป็นผู้ประสานงานหลัก โดยปัจจุบันทุกประเทศยังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นการดำเนินงาน และอยู่ในขั้นตอนการหารือเพื่อกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสมสำหรับใช้ในประเทศตนเอง โดยสรุปการเตรียมการรายประเทศ ดังนี้ ประเทศไทย ได้จัดตั้ง "คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (กพย.) โดยมีนายกรัฐมนตรี
เป็นประธาน เพื่อให้เป็นกลไกระดับชาติ ทำหน้าที่ (๑) กำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง (๒) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับ SDGs (๓) กำกับการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามนโยบาย ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ และข้อตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง (๔) เสนอแนะให้มีการกำหนดหรือแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม และกฎหมายเพื่อส่งเสริม SDGs และ (๕) กำหนดแนวทางและท่าทีการเจรจาในการประชุมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับ SDGs โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้ กพย. จำนวน ๓ คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะอนุกรรมการส่งเสริมความเข้าใจและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนา
ที่ยั่งยืน

บรูไน มีการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดตามเป้าหมาย SDGs และมีคณะกรรมการรับผิดชอบและติดตามผลการดำเนินงานในเชิงสถิติ โดยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของประเทศกับเป้าหมาย SDGs ทั้งนี้ กรมวางแผนเศรษฐกิจและการพัฒนา เป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ แต่จะมีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้ตัดสินใจในประเด็นต่าง ๆ

กัมพูชา มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการและปรับเป้าหมาย SDGs ให้สอดคล้องกับบริบทภายในประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการศึกษาและ
การประชุมหารือภายในกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหุ้นส่วนการพัฒนา ภาคเอกชน เพื่อหาข้อสรุปถึงแนวทางในการเชื่อมโยงเป้าหมาย SDGs กับเป้าหมายของประเทศ ซึ่งมีแผนจะนำ SDGs มาใช้กำหนดแผนพัฒนาประเทศฉบับต่อไป รวมทั้งหาแนวทางบูรณาการเป้าหมาย SDGs เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ฯ ระยะยาวต่อไป

สปป.ลาว ได้มีการตั้งคณะกรรมการสำหรับการดำเนินงานตามเป้าหมาย SDGs และเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ และมีการกำหนดกลไกติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของแผนพัฒนาฯ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประชุมหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับหุ้นส่วนการพัฒนา เพื่อระดมสมองเกี่ยวกับการกำหนดตัวชี้วัดภายใน และการเพิ่มเติมเป้าหมายนอกเหนือจากเป้าหมาย SDGs ได้แก่ การบริหารจัดการที่ดิน ทำให้ สปป.ลาว มีจำนวนเป้าหมายรวมทั้งสิ้น ๑๘ เป้าหมาย ๑๖๙ เป้าประสงค์ อย่างไรก็ดี ข้อท้าทายที่สำคัญของสปป.ลาว คือ การกำหนดตัวชี้วัดที่สามารถบรรลุได้ ทั้งนี้ ผู้ประสานงานหลัก ได้แก่ กระทรวงการวางแผนและการลงทุน โดยมีสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้ดูแลในส่วนข้อมูลสถิติ และจะรายงานความก้าวหน้าผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศของ สปป.ลาว มาเลเซีย อยู่ในระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานตามเป้าหมาย SDGs โดยมีองค์ประกอบจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทั้งนี้ มีการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย SDGs ที่มีนัยยะต่อมาเลเซีย และกำหนดตัวชี้วัดภายในประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs แล้วเสร็จประมาณร้อยละ ๗๕ ของเป้าหมายทั้งหมด

เมียนมา ยังขาดกลไกหน่วยงานหลักในระดับประเทศ แต่ในทางปฏิบัติมี ๒ กลไกที่ดำเนินงาน ได้แก่ (๑) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นผู้หาความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมาย SDGs
กับแผนการพัฒนาประเทศด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยจะกำหนดตัวชี้วัดภายในประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs และ (๒) โครงการสนับสนุนจาก UNDP ซึ่งให้ความช่วยเหลือในการกำหนดตัวชี้วัดภายในประเทศที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งปัจจุบันมีเพียง ๓ ตัวชี้วัดเท่านั้น ฟิลิปปินส์ มีฐานข้อมูลในการติดตามและประเมินผลตัวชี้วัดทั้งหมด ๑๔๑ ตัว แต่ยังไม่มีความพร้อมของข้อมูล คาดว่าหน่วยงานด้านสถิติจะปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน ๑-๒ ปี ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์มีแผนที่จะจัดตั้งกลไกกำกับดูแลรับผิดชอบภายในหน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ รวมทั้งมีความร่วมมือกับ UNDP ในการบูรณาการเป้าหมาย SDGs ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศอีกด้วย

เวียดนาม ได้มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน โดยมีปลัดกระทรวงการวางแผนเป็นประธาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือว่าจะนำตัวชี้วัดใดมาปรับใช้ภายในประเทศ สำหรับแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป สศช. จะประสานและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวางแผนของสมาชิกอาเซียนเพื่อเรียนรู้ร่วมกันและสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาตามเป้าหมาย SDGs และ วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ๒๐๒๕ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมถึงแนวปฏิบัติที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการผลักดันให้การขับเคลื่อนการพัฒนาตามกรอบยุทธศาสตร์เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งประเทศสมาชิกมีความเห็นร่วมกันว่าเป็นเงื่อนไขที่จะส่งผลสำคัญต่อความสำเร็จของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานวางแผนในประเทศสมาชิกอาเซียน ๘ ประเทศ ประกอบด้วย Mr. Ros Seilava ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ราชอาณาจักรกัมพูชา Mr. Maung Maung Tint อธิบดีกรมการวางแผน กระทรวงการวางแผนและการคลัง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา Mr. Lienthong Souphany รองอธิบดีกรมวางแผน กระทรวงการวางแผนและการลงทุน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว Mr. Yoogeesvarah Kumaraguru รองอธิบดีสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจ สำนักนายกรัฐมนตรี ประเทศมาเลเซีย Mr. Dinh Lam Tan รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจแห่งชาติ กระทรวงการวางแผนและการลงทุน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม Mr. Bien A. Ganapin ผู้อำนวยการ ๓ หน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ Mrs. Hjh Zureidah Hj Abit ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวางแผนและรักษาการผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการและประเมินผล กรมวางแผนเศรษฐกิจและการพัฒนา สำนักนายกรัฐมนตรี บรูไนดารุสซาลาม

ภาพ ข่าว / สำนักงานประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ


สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์