ข่าวสาร/กิจกรรม
สรุปรายงานการศึกษาโครงการสำรวจศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพของประเทศ
วันที่ 3 ต.ค. 2559
ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลายกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 936 แหล่ง กระจายอยู่ใน 19 จังหวัดทั่วประเทศ ความมีชื่อเสียงของเกาะหลายแห่งทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีเกาะ และหมู่เกาะอีกจำนวนหนึ่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือมีจุดเด่นในแง่ของความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศเหมาะที่จะกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและสัตว์ป่าและเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการสำรวจและประเมินถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวในหมู่เกาะต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
สศช. จึงได้จัดทำโครงการสำรวจศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพของประเทศขึ้น โดยมีเป้าหมายให้เป็นแนวทางการพัฒนาและการบริหารจัดการเกาะ/หมู่เกาะในประเทศไทยที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีความสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาดและชุมชน รวมทั้งแนวทางการส่งเสริม ฟื้นฟู อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากการพัฒนาในภาพรวมและพื้นที่นำร่อง ซึ่งจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ให้บรรลุได้ตามเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษาและมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 เดือน  
ทั้งนี้ แนวทางการศึกษาครอบคลุม 2 ระดับ ได้แก่ ระดับภาพรวมของประเทศและระดับกรณีศึกษา 
โดยการศึกษาระดับภาพรวมได้คัดเลือกพื้นที่เกาะตัวอย่างจำนวน 33 เกาะ โดยใช้ กฎ 80-20 ตามหลักการของพาเรโต (Pareto Principle) เพื่อศึกษาเกาะที่มีการพัฒนาการท่องเที่ยวและยังไม่มีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และทะเลอันดามัน เพื่อนำข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ จากการสำรวจพื้นที่ การสัมภาษณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย มาวิเคราะห์ประกอบกับข้อมูลทุติยภูมิในมิติเชิงพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนประมวลผลเพื่อประเมินจุดเด่นจุดด้อยของแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะของไทย ขณะเดียวกัน การศึกษาในระดับเกาะที่เป็นกรณีศึกษา ได้ดำเนินการศึกษาในเชิงลึกเกาะที่มีความเหมาะสมและสะท้อนระดับคุณภาพสูง กลาง และต่ำ เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกาะที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟู อนุรักษ์และพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจ สร้างกลไกการบริหารจัดการที่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและชุมชนในทุกขั้นตอนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน 
จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะในเชิงภาพรวม สะท้อนให้เห็นว่าแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะของไทยมีข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น การมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์ รวมถึงบุคลากรและแรงงานด้านการให้บริการการท่องเที่ยวของไทยมีความพร้อมทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งราคาโรงแรมที่พักยังมีราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน อย่างไรก็ดี แหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะส่วนใหญ่ ยังต้องปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การจัดการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบโลจิสติกส์ของการนำนักท่องเที่ยวจากจังหวัดไปสู่เกาะในบางเกาะและการเชื่อมโยงไปสู่แหล่งท่องเที่ยวบนเกาะ การจัดการความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และการพัฒนามาตรฐานสินค้าและบริการที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเพิ่มรายได้ของคนในชุมชน เป็นต้น 
นอกจากนี้ ผลการประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะตัวอย่างจำนวน 33 เกาะ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถสะท้อนถึงคุณลักษณะที่สำคัญของแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะ ซึ่งได้มาจากเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติประเภทเกาะ ของกรมการท่องเที่ยว และการจัดทำตัวชี้วัดเพิ่มเติมตามความเหมาะสม ซึ่งสรุปผลได้ดังตารางที่แนบมาพร้อมกันนี้

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์