ข่าวสาร/กิจกรรม
ผลสำรวจการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดย WEF ในปี 2016 – 2017 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับด้านเศรษฐกิจมหภาคดีขึ้น 14 อันดับ และด้านนวัตกรรมดีขึ้น 3 อันดับ
วันที่ 28 ก.ย. 2559
ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการแถลงผลการสำรวจจาก World Economic Forum (WEF) เรื่อง Global Competitiveness Report (GCR) ประจำปี 2016 – 2017 ซึ่งแสดงถึงภาพรวมระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเทียบกับเวทีการค้าโลก
ผลการสำรวจดังกล่าวพบว่า ในปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 34 จาก 138 ประเทศ ลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ในอันดับที่ 32 จาก 140 ประเทศ ทั้งนี้ หากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอาเซียนแล้ว ประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ และยังคงมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับที่สาม รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย  นอกจากนั้น ในปี 2016 ประเทศไทยมีคะแนนรวมในการจัดอันดับคงที่เท่ากับปี 2015 คือ 4.64 คะแนน สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการแข่งขันของประเทศไม่ได้ถดถอยลงแต่อย่างใด เพียงแต่มาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วอาจยังไม่ส่งผลในทางปฏิบัติให้เห็นเชิงประจักษ์ได้ในปัจจุบัน+
ในปี 2016 ประเทศไทยมีความโดดเด่นในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Environment) โดยอยู่อันดับที่ 13 จากเดิมอันดับที่ 27 ในปี 2015 ปรับตัวดีขึ้น 14 อันดับ โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 5.7 เป็น 6.1 คะแนน ซึ่งตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ การใช้จ่ายภาครัฐ (Government Budget Balanced) การออมมวลรวมแห่งชาติ (Gross National Savings) และสัดส่วนหนี้ภาครัฐ (Government Debt) นอกจากนั้น ด้านนวัตกรรม (Innovation) ก็ได้รับการปรับอันดับดีขึ้น 3 อันดับ โดยอยู่ในอันดับที่ 54 ในปี 2016 จากเดิมอันดับที่ 57 ในปี 2015 ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับตัวชี้วัดย่อยที่ได้รับการปรับอันดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ความน่าเชื่อถือของตำรวจ (Reliability of Police Service) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 61 ในปี 2016 จากเดิมอันดับที่ 112 ในปี 2015 ระบบคุณภาพของระบบการศึกษา (Quality of the Education System) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 67 ในปี 2016 จากเดิมอันดับที่ 74 ในปี 2015 นอกจากนี้ ปัจจัยที่เคยเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจมากที่สุด ได้แก่ ความไม่มั่นคงของรัฐบาล ความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ และการทุจริตคอร์รัปชัน ได้มีการปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต่อไป สภาพการแข่งขันระหว่างประเทศจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของภาคธุรกิจมากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม รวมทั้ง พัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ ในขณะเดียวกันภาครัฐต้องปรับปรุงระบบการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม อาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และมีความเป็นผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเพื่อให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการสร้างธุรกิจใหม่หรือในการฟื้นตัวของธุรกิจเดิม และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น คุณภาพบริการท่าเรือ เป็นต้น

*******************************************
จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
28 กันยายน 2559

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์