ข่าวสาร/กิจกรรม
ผลการประชุมหารือร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรี กรอ.ส่วนกลาง และ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 
วันที่ 17 ก.ย. 2559
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 ณ ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จ.ภูเก็ต พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ส่วนกลาง และคณะกรรมการ กรอ. กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ และตรัง) โดยมี ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมประชุมในฐานะเลขานุการ กรอ. พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันเข้าร่วมประชุม 
วัตถุประสงค์การประชุมดังกล่าวคือ เพื่อร่วมหารือแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยสรุปสาระสำคัญการประชุมได้ดังนี้

1. การยกระดับเมืองสปาน้ำพุร้อนเค็ม และพัฒนาเส้นทางอันดามันโรแมนติกโรด อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รับไปดำเนินการยกระดับเมืองสปาน้ำพุร้อนเค็ม และพัฒนาเส้นทางอันดามันโรแมนติกโรด อ.คลองท่อม จ.กระบี่ โดยคำนึงถึงความพร้อม ความเหมาะสม และความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งรูปแบบการบริหารจัดการโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการที่สมดุลและยั่งยืนด้วย
2. การสนับสนุนโครงการยกระดับเส้นทางเชื่อมโยงท่องเที่ยวอันดามัน ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปดำเนินการจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการยกระดับเส้นทางเชื่อมโยงท่องเที่ยวอันดามัน ประกอบด้วย (1) เร่งรัดปรับปรุงเส้นทางสาย 4 (เพชรเกษม) เป็น 4 ช่องจราจร ประกอบด้วย สายระนอง-ราชกรูด สายราชกรูด-ตะกั่วป่า สายตะกั่วป่า-เขาหลัก และ (2) เร่งรัดปรับปรุงเส้นทางสาย 4027 เป็น 4 ช่องจราจร โดยคำนึงถึงการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ พร้อมทั้งเร่งศึกษาจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในแนวเส้นทางที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติตามขั้นตอนต่อไป

3. ข้อเสนอกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย
3.1 จังหวัดภูเก็ต ได้แก่ โครงการ Phuket Smart City ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรับไปพิจารณาในรายละเอียด และจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการตามขั้นตอน
3.2 จังหวัดพังงา ได้แก่ (1) โครงการเคลือบผิวจราจรลดการลื่นไถล เส้นทางหลวงหมายเลข 4 และ 4311 และ (2) โครงการก่อสร้างถนนและสะพานแหล่งท่องเที่ยวเกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน โดยให้คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการสัญจรเป็นสำคัญ
3.3 จังหวัดกระบี่ ได้แก่ โครงการก่อสร้างสะพานลันตาช่วงแรก (บ้านหัวหิน-บ้านคลองหมาก) มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับกระทรวงคมนาคม รับไปพิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นและความเหมาะสม โดยให้คำนึงถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างสมดุลและยั่งยืน
3.4 จังหวัดระนอง ได้แก่ โครงการศึกษาเส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ
3.5 จังหวัดตรัง ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานตรัง มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าของการลงทุนในโครงการฯ 

ข่าว     สำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
ภาพ    

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์