ข่าวสาร/กิจกรรม
นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดการประชุมประจำปี 2559 ของ สศช. "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)" 22 ก.ค. นี้
วันที่ 15 ก.ค. 2559
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดจัดการประชุมประจำปี 2559 เรื่อง "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)” ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยได้รับเกียรติจากพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ
ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดจัดการประชุมประจำปี 2559 เรื่อง "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)” ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วนของสังคมได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12
ที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความมั่นคง และการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้การจัดทำแผนดังกล่าวมีความครบถ้วนและสมบูรณ์ รวมทั้งเพื่อรายงานผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของสังคมไทยในช่วง 4 ปี ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) โดยจะมีผู้เข้าร่วมงานจากทุกภาคส่วนของสังคมไทยประมาณ 3,000 คน 
ในโอกาสนี้ สศช. ขอเชิญประชาชนผู้สนใจสมัครเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ตั้งแต่บัดนี้ จำกัดที่นั่งเพียง 200 ท่านแรกที่ลงทะเบียนสมัครผ่านทางเว็บไซต์ สศช. (www.nesdb.go.th) โดยผู้เข้าร่วมประชุม
จะได้รับเอกสาร อาทิ ร่างทิศทางของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 รายงานผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ของประเทศในระยะ 4 ปี ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 และวารสารเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง "โครงสร้างพื้นฐานเพื่อประเทศไทยในอนาคต”
นายกรัฐมนตรีเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ
สำหรับการประชุมภาคเช้า เริ่มด้วยการฉายวีดิทัศน์ เรื่อง "รถไฟขบวนที่ 12 ตั๋ว 664 สู่สถานีปลายทางแห่งความยั่งยืน” จากนั้นเป็นการกล่าวเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษโดย นายกรัฐมนตรี และการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง "การพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12” โดย นายพารณ  อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานดำเนินรายการ และ ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการ สศช. เป็นผู้ดำเนินรายการ   
ทุกภาคส่วนร่วมระดมความคิดชี้ทิศทางแผนฯ 12 
ภาคบ่าย เป็นการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศในช่วงแผนฯ 12 โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่ม มีกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานดำเนินรายการ และรองเลขาธิการ สศช. หรือที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย รองศาสตราจารย์ ดร.จุรี  วิจิตรวาทการ เป็นประธานดำเนินรายการ กลุ่มที่ 2 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา
นายอิสระ  ว่องกุศลกิจ เป็นประธานดำเนินรายการ
กลุ่มที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธานดำเนินรายการ กลุ่มที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ศาสตราจารย์ ดร.สนิท  อักษรแก้ว เป็นประธานดำเนินรายการ กลุ่มที่ 5 การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน
นายถวิล  เปลี่ยนศรี เป็นประธานดำเนินรายการ กลุ่มที่ 6 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ และธรรมาภิบาลในสังคมไทย นายพงศ์โพยม  วาศภูติ เป็นประธานดำเนินรายการ กลุ่มที่ 7 การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ดร.ณรงค์ชัย  อัครเศรณี เป็นประธานดำเนินรายการ 
ทั้งนี้ สศช. จะนำข้อเสนอแนะจากการระดมความคิดครั้งนี้ไปปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลง
พระปรมาภิไธย และประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2559
10 ยุทธศาสตร์ในแผนฯ 12 มุ่งสร้างประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
สศช. ได้ประเมินสถานภาพของประเทศในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล  พร้อมทั้งประเมินบริบทต่างๆ ที่จะกระทบต่อการพัฒนาประเทศ  รวมทั้ง
นำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแนวทางการปฏิรูปที่สำคัญมาสังเคราะห์เพื่อยกร่างทิศทางการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12  และได้นำไประดมความคิดเห็นจากประชาชนในระดับพื้นที่ทั้ง 4 ภาคของประเทศตลอดกระบวนการในการจัดทำแผนฯ     
กรอบหลักการของการวางแผนฯ 12 ได้น้อมนำและประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม การพัฒนาที่ยึดหลักสมดุล ยั่งยืน โดยวิสัยทัศน์ของ
การพัฒนาให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากประเทศ
ที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง มีการกระจายรายได้และการพัฒนาอย่างเท่าเทียม มีระบบนิเวศน์ที่ดี สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ระยะยาว "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
ของประเทศ โดยมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ 10 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์
"คนไทยใฝ่ดี มีวินัย สร้างสรรค์นวัตกรรม พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน”
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยที่จะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ในปี 2564 โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19.8 ขณะที่จำนวนประชากรวัยแรงงานได้เริ่มลดลง ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการสร้างรายได้และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ขณะเดียวกันคนทุกช่วงวัยยังมีปัญหาเชิงคุณภาพ ตั้งแต่พัฒนาการไม่สมวัยในเด็กปฐมวัย ความรู้และทักษะของแรงงานไม่ตรงกับตลาดงาน ผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพและมีแนวโน้มอยู่คนเดียวสูงขึ้น รวมถึงสังคมไทยยังมีค่านิยม ทัศนคติ และพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสม การพัฒนาในระยะต่อไปจึงต้องให้ความสำคัญกับการวางรากฐานการพัฒนาคนให้มี
ความสมบูรณ์ มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพในแต่ละช่วงวัย บนพื้นฐานของการมีสถาบันทางสังคมที่เข้มแข็ง
การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์จึงมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ มุ่งปรับเปลี่ยนให้คนในสังคมไทยมีค่านิยมตามบรรทัดฐานที่ดีทางสังคม และวางรากฐานเตรียมคนไทยให้มีทักษะการดำรงชีวิตในโลกศตวรรษที่ 21 มีสุขภาวะที่ดี พร้อมทั้งพัฒนาสถาบันทางสังคมให้เข้มแข็งเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ (1) ปรับเปลี่ยนค่านิยมคนไทยให้มีคุณธรรม จริยธรรม มีวินัย
จิตสาธารณะ และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงดูของครอบครัว (2) พัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถของคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยที่เน้นพัฒนาทักษะทางสมองและทักษะทางสังคม
เพื่อให้เติบโตมีพัฒนาการที่สมวัย (3) ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยส่งเสริมให้มีนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน การปรับหลักสูตรการผลิตครูที่เน้นสมรรถนะ และการขยายความร่วมมือในระบบทวิภาคี/สหกิจศึกษา (4) ลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ พัฒนาให้คนมีความรู้ในการดูแลสุขภาพ
(5)เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบสุขภาพภาครัฐ โดยปรับระบบบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันระหว่างสถานพยาบาลทุกสังกัดในเขตพื้นที่สุขภาพ (6) พัฒนาระบบการดูแลและสร้างสภาพแวดล้อม
ที่เหมาะสมกับสังคมสูงวัย โดยพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวที่เหมาะสม (7) ผลักดันให้สถาบันทางสังคม
มีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ โดยส่งเสริมให้สถานบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สื่อสารมวลชน และภาคเอกชน ทำหน้าที่ตามบทบาทของตนให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศอย่างเข้มแข็ง
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
"ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างสังคมเป็นธรรมและเข้มแข็ง”
จากการที่ประเทศไทยยังมีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ ทั้งด้านรายได้และความเหลื่อมล้ำ และเมื่อพิจารณาการกระจายรายได้ระหว่างกลุ่มประชากร โดยกลุ่มที่รวยสุดร้อยละ 10 มีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 35.0 ของรายได้รวมปี 2558 ขณะที่กลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด มีสัดส่วนรายได้เพียงร้อยละ 14.3 ของรายได้รวมเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีความเหลื่อมล้ำทางด้านสินทรัพย์และการถือครองที่ดิน และปัญหากระจายบริการภาครัฐที่มีคุณภาพที่ยังไม่ทั่วถึง
ดังนั้นการพัฒนาประเทศจึงต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่กลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด
ให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการทางสังคมที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งพิงตนเองได้และเป็นพลังร่วมในการพัฒนา โดยมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ คือ (1) เพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มเป้าหมายประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุดให้สามารถยกระดับรายได้ และเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของรัฐ โดยขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (2) กระจายการให้บริการภาครัฐทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการที่มีคุณภาพให้ครอบคลุมและทั่วถึง ตลอดจนปรับปรุงปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ รวมทั้งกฎหมาย กฎ ระเบียบให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
โดยด้านการศึกษา ส่งเสริมการกระจายการบริการด้านการศึกษาที่มีคุณภาพให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น
ด้านสาธารณสุข พัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยในทุกระดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำเทคโนโลยีสารสนเทศ
และการสื่อสารมาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางในพื้นที่ห่างไกล  ด้านอื่นๆ อาทิ เร่งรณรงค์
การสร้างหลักประกันเพื่อวัยเกษียณ การจัดสวัสดิการด้านการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ปรับปรุงปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
(3) เสริมสร้างศักยภาพชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และสร้างความเข้มแข็งการเงิน
ฐานรากตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน ส่งเสริมให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างการจัดการความรู้ในชุมชน ปรับองค์กรการเงินของชุมชนให้ทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงิน
ในระดับหมู่บ้าน-ตำบล และผลักดัน พ.ร.บ.โฉนดชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรในพื้นที่ร่วมกัน เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
"พัฒนาเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและทั่วถึง เพื่อมุ่งสู่การมีรายได้สูง อย่างมีเสถียรภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม”
เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาต่อเนื่องหลายปี จากนี้ไปจึงจำเป็นต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย
ให้กลับมาขยายตัวได้สูงขึ้น โดยการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ สร้างบรรยากาศ
การลงทุน และปฏิรูปเศรษฐกิจในหลายด้าน เพื่อวางพื้นฐานให้ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูงได้ภายในปี 2570 ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยการใช้นวัตกรรม คุณภาพคน และการปรับปรุงด้านกฎระเบียบและ
การบริหารจัดการที่ดี
เป้าหมายสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน คือการให้ความสำคัญกับการบริหารเศรษฐกิจมหภาคให้มีเสถียรภาพ เพิ่มประสิทธิภาพภาคการเงิน และดูแลวินัยทางการเงินการคลัง ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจรายสาขา ที่เป็นฐานรายได้เดิมและขยายสาขาการผลิตและบริการใหม่ๆ การพัฒนาและใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นก้าวหน้าที่เข้มข้นมากขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตัล การพัฒนาและยกระดับคุณภาพของกำลังคน และความคิดสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 โดยมีรายได้ต่อหัวเป็น 8,200 ดอลลาร์ สรอ. ในปี 2564
สำหรับแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ (1) บริหารจัดการเศรษฐกิจส่วนรวม เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาการคลัง มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบงบประมาณของประเทศ พัฒนาการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ใช้เครื่องมือทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาการเงิน มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินและสถาบันการเงินให้สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ทั่วถึงประชาชนทุกกลุ่ม ยกระดับองค์กรการเงินชุมชนเพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างความรู้ทางการเงินให้กับประชาชน พัฒนานวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ และสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน 
(2) เสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ ด้วยการมุ่งเน้นการสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่มูลค่าระหว่างภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และการค้าการลงทุน
โดยการพัฒนาภาคเกษตร มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพให้เป็นฐานรายได้ใหม่ที่สำคัญ มีการปรับตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเร่งผลักดันให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีความโดดเด่นในด้านคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยในตลาดโลก การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการต่อยอดความเข้มแข็งของอุตสาหกรรม
ที่มีศักยภาพปัจจุบัน อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมสำหรับอนาคต การพัฒนาภาคบริการและการท่องเที่ยว มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของฐานบริการเดิมให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการ การพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานบริการ และการยกระดับธุรกิจบริการที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยการใช้ประโยชน์
จากเทคโนโลยีใหม่ การพัฒนาภาคการค้าและการลงทุน อาทิ การส่งเสริมการทำตลาดเชิงรุกเพื่อเพิ่ม
ความต้องการบริโภคสินค้าภายในประเทศและการส่งออกสินค้าไทย การสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ
การสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศและบริษัทการค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาการอำนวย
ความสะดวกทางการค้า การสนับสนุนการใช้ e-Commerce และการส่งเสริม SMEs โดยสนับสนุนการสร้างสังคมผู้ประกอบการและการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
"คืนสมดุลสู่ธรรมชาติ  เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
ปัจจุบันสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นจุดอ่อนในการรักษาฐานการผลิตและบริการ รวมทั้งการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติมีความผันผวนและรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะอุทกภัยและภัยแล้งสร้างความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ  ในขณะที่ข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งทวี
ความเข้มข้นมากขึ้น ทำให้ต้องเตรียมพร้อมรับภาระในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กระแส
การแข่งขันทางการค้า  ส่วนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกหลัง ค.ศ. 2015 ได้กลายเป็นทิศทางการพัฒนากระแสหลักของโลกในระยะ 15 ปีข้างหน้า
ดังนั้น ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ประเทศไทยจึงต้องเร่งขับเคลื่อนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมาย คือ (1) รักษา ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและมีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม (2) สร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ และบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำให้มีความสมดุลระหว่างความต้องการใช้น้ำทุกกิจกรรมกับปริมาณน้ำต้นทุน (3) บริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และลดมลพิษให้มีคุณภาพดีขึ้น (4) พัฒนาขีดความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรับมือกับภัยพิบัติ 
ทั้งนี้ มีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ (1) รักษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สร้างสมดุลของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม และสร้างรายได้จากการอนุรักษ์เพื่อใช้ในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ ส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจไม้มีค่าระยะยาว (2) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในมิติเชิงปริมาณและคุณภาพ อาทิ โดยเร่งตัดให้มีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ....  และแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำอย่างบูรณาการทั้ง 25 ลุ่มน้ำ (3) แก้ไขปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม โดยเร่งรัดแก้ไขปัญหาการจัดการขยะตกค้างสะสมในพื้นที่วิกฤต ผลักดันกฏหมายและกลไกเพื่อการคัดแยกขยะ สนับสนุนการแปรรูปเป็นพลังงาน
(4) ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นการบริหารจัดการทรัพยากร
อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน (5) สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจัดทำและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (6) บริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (7)พัฒนาระบบการบริหารจัดการและกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยปรับปรุงกลไกและกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพทุกขั้นตอน  (8) พัฒนาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ อาทิ แสวงหาแนวทางความร่วมมือกับอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในประเด็นการขนส่งข้ามพรมแดน บริหารจัดการพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติและ
การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ความมั่นคง
"เสริมสร้างพื้นฐานที่มั่นคงในการพัฒนาประเทศ”
ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงได้ให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูพื้นฐานด้านความมั่นคงที่เป็นปัจจัยสำคัญ
ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติบนพื้นฐานของการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และการเตรียมการรับมือกับอาชญากรรมข้ามชาติ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงภายในและป้องกันปัญหาภัยคุกคามที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ พร้อมทั้งสร้างความสอดคล้องระหว่างนโยบายด้าน
ความมั่นคง ให้สนับสนุนเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สามารถพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน สร้างความพร้อมและผนึกกำลังของทุกภาคส่วนให้มีศักยภาพในการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดจากภัยคุกคามทั้งภัยคุกคามทางทหารและภัยคุกคามรูปแบบอื่นๆ ควบคู่ไปกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติ
ทั้งนี้ มีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ (1) รักษาความมั่นคงภายในเพื่อให้เกิดความสงบในสังคมและธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ โดยสร้างจิตสำนึกของความหวงแหน เสริมสร้างความปรองดองและ
มีกลไกตรวจสอบและพัฒนาภาคการเมือง และป้องกันและแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแนวทาง "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” (2) พัฒนาเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามทั้งการทหารและภัยคุกคามอื่นๆ โดยพัฒนาศักยภาพและความพร้อมของกองทัพทั้งกำลังพลอาวุธยุทโธปกรณ์ ยุทธภัณฑ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้เหมาะสม (3) ส่งเสริม
ความร่วมมือกับต่างประเทศด้านความมั่นคงเพื่อบูรณาการความร่วมมือกับมิตรประเทศ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการป้องกันภัยคุกคามข้ามชาติ โดยดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างสมดุล เสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประเทศเพื่อนบ้าน และส่งเสริมความร่วมมือในการบริหารจัดการความมั่นคง
(4) การรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อคงไว้ซึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของชาติเหนืออาณาเขตทางทะเล โดยเสริมสร้างความร่วมมือในการรักษาความมั่นคงทางทะเลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ แก้ไขปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรโดยพัฒนากลไกในในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ให้มีความทันสมัยและเป็นสากล (5) การบริหารจัดการความมั่นคงเพื่อการพัฒนาเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันระหว่างแผนงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงการพัฒนาภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยปรับปรุงระบบติดตามเฝ้าระวัง ศึกษาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคง เพิ่มประสิทธิภาพและความพร้อมในการเผชิญสถานการณ์ โดยมีแผนปฏิบัติการและมีการฝึกทดสอบปฏิบัติในทุกระดับอย่างเหมาะสม  และพัฒนากลไก
ด้านความมั่นคงและระบบการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ให้พร้อมรับสถานการณ์ โดยสร้างเครือข่าย
การสนับสนุน ทั้งด้านนโยบาย องค์ความรู้และการสร้างกลไก ขับเคลื่อนแผนงานระดับพื้นที่ให้เชื่อมโยง
และตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ และธรรมาภิบาล
ในสังคมไทย
"ประสิทธิภาพ ทันสมัย โปร่งใส เป็นธรรม”
อุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาหรือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ วิกฤต
ด้านสังคม การเมือง และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ ความอ่อนแอของระบบ
การบริหารจัดการในภาครัฐและธรรมาภิบาลในสังคมไทย การขาดประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการภาครัฐ และการบังคับใช้กฎหมาย ระบบการบริหารและการให้บริการของท้องถิ่นขาดประสิทธิภาพและความโปร่งใสเท่าที่ควร การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดสรรงบประมาณยังไม่เพียงพอ และกระบวนการอำนวยความยุติธรรมยังไม่เสมอภาคและเป็นธรรม ดังนั้น การพัฒนาในระยะต่อไปจึงมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายสำคัญ คือเพื่อลดสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการให้บริการของภาครัฐ และประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจของประเทศ ให้อยู่ในอันดับ 2 ของอาเซียน รวมทั้งลดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของประเทศ เพื่อเพิ่มคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) ให้อยู่สูงกว่าร้อยละ 50 เมื่อสิ้นสุดแผนฯ 12
สำหรับแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ (1) ปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงาน บทบาท ภารกิจ และคุณภาพบุคลากรภาครัฐ ให้มีความโปร่งใส ทันสมัย คล่องตัว มีขนาดที่เหมาะสม เกิดความคุ้มค่า
โดยกำหนดภารกิจ อำนาจหน้าที่ของส่วนกลางส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นให้ชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อน ปรับปรุงกลไกภาครัฐให้มีการบูรณาการ สามารถส่งเสริมการผลิตและการให้บริการของภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (2) ปรับปรุงกระบวนการงบประมาณ และสร้างกลไกในการติดตามตรวจสอบการเงินการคลังภาครัฐ
โดยแก้ไข พรบ.งบประมาณ พ.ศ. 2502 ให้ส่งเสริมการจัดสรรงบแบบบูรณาการ (3) เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการให้บริการสาธารณะให้ได้มาตรฐานสากล โดยปรับรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน และประชาสังคม ให้เป็นแบบประชารัฐ ส่งเสริมการแข่งขันการจัดบริการสาธารณะของรัฐ สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานกลางของศูนย์ข้อมูลภาครัฐ ผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศภาครัฐ (Government Information Network: GIN)  (4) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเร่งทบทวนการถ่ายโอนภารกิจเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข พัฒนาความรู้ความสามารถของผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และบุคลากรของท้องถิ่น ให้มีความรู้ในอำนาจหน้าที่และบทบาทนักบริหาร นักการเมือง และผู้ปฏิบัติงานที่มีธรรมาภิบาล (5) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
โดยปลูกฝังให้คนไทยไม่โกง สร้างความตระหนักถึงภัยร้ายแรงของการทุจริตและรู้เท่าทันการทุจริตของสังคมไทย ป้องกันการทุจริตโดยปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปราบปรามการทุจริต โดยปฏิรูปโครงสร้างองค์กรอิสระและหน่วยงานที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ รวมทั้งสร้างแนวร่วมการลงโทษทางสังคมที่รุนแรงต่อผู้ทุจริตโดยการใช้สื่อทุกรูปแบบ
(6) ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้มีความทันสมัย เป็นธรรม และสอดคล้องกับข้อบังคับสากลหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยปฏิรูปกฎหมายให้ทันสมัย โดยเร่งรัดให้กระทรวง กรม หรือหน่วยงานเทียบเท่า ปรับปรุงแก้ไข ยกเลิกกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับ ที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรม ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ โดยปฏิรูปองค์กรศาล องค์กรอัยการ องค์กรทนายความ และหน่วยงานตำรวจ ให้อำนวยความยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส  รวมทั้งพัฒนาระบบการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร
ยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์
"โครงสร้างพื้นฐานก้าวไกล พัฒนาไทยสู่ทศวรรษหน้า"
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศในช่วงแผนฯ 12 จะมุ่งเน้นการขยาย
ขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจหลัก และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกกลุ่มในสังคม การพัฒนาระบบบริหารจัดการและการกำกับดูแล
ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มประสิทฺธิภาพการดำเนินการ สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน และการคุ้มครองผู้บริโภค การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ และการพัฒนาผู้ประกอบการในสาขาโลจิสติกส์ และหน่วยงานที่มีศักยภาพไปทำธุรกิจ
ในต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์
ในภาพรวม เพื่อลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity: EI) อยู่ที่ 12.83 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/พันล้านบาท ในปี 2564 และลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยเป็นร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม
ในประเทศ ในปี 2564 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมขนส่ง อาทิ เพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางจากร้อยละ 2 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 และปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 19  การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ ขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ได้ร้อยละ 85 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ และมีผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 ราย
ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาที่สำคัญได้กำหนดให้ครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบ
โลจิสติกส์ในด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่ง การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาด้านพลังงาน การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาระบบน้ำประปา โดยมุ่งเน้นการขยายขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพการให้บริการ รวมทั้งการบริหารจัดการและการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเป็นธรรมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
ภายในช่วงของแผนฯ 12 คาดว่า การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตรระยะแรกจะแล้วเสร็จทุกเส้นทาง และจะเริ่มก่อสร้างโครงข่ายรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ได้ และเริ่มก่อสร้างระบบรถไฟไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเป็นเครื่องมือในการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการวางแผนการพัฒนาพื้นที่เมืองบริเวณสถานีรถไฟ ตลอดจนเริ่มการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา หาดใหญ่ และภูเก็ต เป็นต้น และการพัฒนาโครงข่ายทางถนน อาทิ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า อาทิ
การก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า สถานีขนส่งสินค้า การส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ด้านระบบคมนาคมขนส่ง เช่น อุตสาหกรรมด้านการบินและบำรุงรักษาอากาศยาน และอุตสาหกรรมการผลิตและประกอบรถไฟไฟฟ้า การพัฒนาโครงข่าย Smart Grid เพื่อรองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเริ่มพัฒนาจุดจ่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว การพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมสู่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและการพัฒนากำลังคนและสร้างนวัตกรรมด้านดิจิทัล เพื่อรองรับ
การพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และการพัฒนาระบบประปาให้ได้มาตรฐานและครอบคลุมพื้นที่เมืองและชนบท เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 8 วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม 
"รุกไปข้างหน้าด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม”
การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมของประเทศจำเป็นที่จะต้องได้รับการเสริมสร้างความเข้มแข็งขั้นก้าวหน้า โดยปรับรูปแบบการดำเนินงานให้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งจากภาครัฐและเอกชน และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะสูง รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐาน
ที่ทันสมัย ระบบแรงจูงใจและระบบสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมารองรับ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เพิ่มสัดส่วนค่าใช้จ่ายการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาสู่ร้อยละ 1.5 ของ GDP และมีสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนต่อภาครัฐเป็น 70 : 30 โดยสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์และเป้าหมายของประเทศ : งานวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้าง/สะสมองค์ความรู้ : ระบบโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และระบบมาตรฐาน เป็น 55 : 25 : 20 เพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาเป็น 25 คนต่อประชากร 10,000 คน และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และด้านเทคโนโลยี จัดโดย IMD ให้อยู่ในลำดับ 1 ใน 30
สำหรับแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ (1) เร่งส่งเสริมการลงทุนวิจัยและพัฒนา และผลักดันสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม อาทิ การลงทุนวิจัยและพัฒนากลุ่มเทคโนโลยีที่ไทยมีศักยภาพพัฒนาได้เอง อาทิ กลุ่มอาหารและเกษตร การแพทย์ สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรม
กลุ่มเทคโนโลยีที่นำสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดด อาทิ เทคโนโลยีทางการแพทย์ครบวงจร เทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์และเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ ยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งเร่งรัดถ่ายทอดผลงานวิจัยและพัฒนา และเทคโนโลยีสู่เกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (2) พัฒนาผู้ประกอบการให้เป็นผู้ประกอบการทางเทคโนโลยี (Technopreneur) เพื่อให้มีบทบาทหลักด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี และร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการออกแบบและการจัดการธุรกิจ
ที่ผสานการใช้เทคโนโลยี
(3) พัฒนาสภาวะแวดล้อมของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ทั้งด้านบุคลากรวิจัย อาทิ เร่งผลิตบุคลากรสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพให้พอเพียงและสอดคล้องกับความต้องการโดยเฉพาะในสาขา STEM วิทยาศาสตร์ (Science : S) เทคโนโลยี (Technology : T) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineer : E) และคณิตศาสตร์ (Mathematics : M) เร่งสร้างและพัฒนาศักยภาพนักวิจัย ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ ปรับปรุงและพัฒนาระบบการวิจัยเพื่อรองรับเทคโนโลยีสำคัญๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเตรียมความพร้อมสู่
การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ เร่งสร้างความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเต็มศักยภาพ
ของภาครัฐ และด้านการบริหารจัดการ อาทิ ส่งเสริมการปรับโครงสร้างและบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการดำเนินงาน
ปรับระบบการบริหารจัดการงบประมาณจากการจัดสรรตามภารกิจ ไปสู่การจัดสรรตามแผนงาน/โครงการ สนับสนุนการจัดทำ Technology Road Map และแผนปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมรายสาขา และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนและการพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมเชิงลึก
โดยสนับสนุนให้มีราชบัณฑิตสภาทางวิทยาศาสตร์ (Royal Academy of Science) ผ่านทางกลไกที่มีอยู่ เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 9 การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ
"กระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างสมดุล”
การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ในอนาคต 5 ปี มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคของประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยการยกระดับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ประกอบด้วย
พัฒนาภาคเหนือให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง โดยการพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการเชิงสร้างสรรค์ การยกระดับให้เป็นฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย การเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่มีมูลค่าสูง ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีแนวทางสำคัญ อาทิ พัฒนากลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนาและกลุ่มชาติพันธุ์ พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นทางเลือกใหม่ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พัฒนาภาคเหนือตอนบนให้เป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ส่วนภาคเหนือตอนล่างให้เป็นฐานการผลิตสินค้าปลอดภัย และการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศ
พัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้หลุดพ้นจากความยากจนก้าวสู่เป้าหมาย "อีสานพึ่งตนเอง” โดยเป็นฐานการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง มาตรฐานปลอดภัยและอินทรีย์ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเอทานอลของประเทศ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ อารยธรรมขอม วัฒนธรรมประเพณี ท่องเที่ยวธรรมชาติ และท่องเที่ยวเชิงกีฬาระดับนานาชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการที่เชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจอนุภาคลุ่มน้ำโขง โดยมีแนวทางที่สำคัญ อาทิ พัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่งผลิตและแปรรูปข้าวหอมมะลิคุณภาพสูง พัฒนาให้นครราชสีมาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารแบบครบวงจร พัฒนาให้กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเชื่อมโยง
การท่องเที่ยววัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเป็นแหล่งประวัติศาสตร์อารยธรรมขอมเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน
พัฒนาภาคกลางให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำ โดยเป็นศูนย์อุตสาหกรรมของอาเซียน เป็นฐานการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐานโลก รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลนานาชาติ โดยมีแนวทางที่สำคัญ อาทิ ยกระดับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี และระยองให้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พัฒนาธุรกิจการค้าขายผลไม้จังหวัดระยองด้านตะวันออก จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทราให้เป็นฐานการผลิตและจำหน่ายผลไม้เพื่อการส่งออก รวมทั้งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในจังหวัดชลบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ให้ได้รับความนิยมในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน
พัฒนาภาคใต้เป็นฐานการสร้างรายได้ที่หลากหลาย โดยเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพารา และปาล์มน้ำมันของภูมิภาค เป็นแหล่งผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ได้มาตรฐานระดับสากล รวมทั้งคงความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในระดับโลก โดยมีแนวทางที่สำคัญ อาทิ การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมยางจังหวัดสงขลา พัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยซึ่งประกอบด้วยจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ให้เป็นแหล่งผลิตโคเนื้อศรีวิชัยซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อที่มีคุณภาพสูง ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวทางบก
ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนานาชาติเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันที่มีการพัฒนาระบบบริการแบบอัจฉริยะ
พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard : ESB) มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาให้ขยายตัวอย่างสมดุล และได้รับการยอมรับจากชุมชน เป็นศูนย์อุตสาหกรรมทันสมัย ใช้เทคโนโลยีสูงและ
เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของอาเซียน แนวทางการพัฒนาประกอบด้วย (1) เร่งรัดแก้ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม (2) สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ (3) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม
ที่ได้มาตรฐาน และ (4) กระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยส่งเสริมการเชื่อมโยง
ภาคเศรษฐกิจหลักกับเศรษฐกิจชุมชนในทุกภาคการผลิต
สำหรับพื้นที่เศรษฐกิจใหม่บริเวณชายแดน ซึ่งเป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
ให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและเกิดผลที่เป็นรูปธรรม ในพื้นที่เป้าหมายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 พื้นที่ ได้แก่ ตาก สระแก้ว สงขลา หนองคาย นครพนม มุกดาหาร ตราด กาญจนบุรี เชียงราย และนราธิวาส แนวทางการพัฒนาประกอบด้วย (1) ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการลงทุน (2) ยกระดับการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ (3) ส่งเสริมให้
ภาคประชาชนและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการพัฒนา และ (4) บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้พัฒนาเมืองศูนย์กลางของจังหวัดให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับคนทุกกลุ่ม
ในสังคมอย่างเท่าเทียม เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีสมดุล และสอดคล้องกับอัตลักษณ์และศักยภาพของเมืองบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน  
ยุทธศาสตร์ที่ 10 การต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาค
"ใช้จุดเด่นให้เป็นประโยชน์ ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศให้เข้มข้นเพื่อให้เกิดผลต่อ
การพัฒนาอย่างเต็มที่”
ในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ ไทยต้องมุ่งเน้นการผลักดันให้ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบและในเชิงสถาบันมีความคืบหน้าและชัดเจนในระดับปฏิบัติการและในแต่ละจุดพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศ ควบคู่
ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพที่ต้องเชื่อมโยงเครือข่ายภายในประเทศและต่อเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน และการเตรียมความพร้อมให้ประเทศเป็นประตูไปสู่ภาคตะวันตกและตะวันออกของภูมิภาคเอเชีย โดยดำเนินยุทธศาสตร์เชิงรุกในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของทำเลที่ตั้งของประเทศเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย ขยายโอกาส
ด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และยกระดับให้ประเทศเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่มีศักยภาพและโดดเด่น และเพิ่มบทบาทของไทยในเวทีโลกด้วยการส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ รวมทั้งการสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ มีดังนี้ (1) พัฒนาความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และโทรคมนาคมในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคภายใต้แผนงาน GMS, ACMECS, IMT-GT, JDS และ BIMSTEC และภูมิภาคอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยพัฒนาความเชื่อมโยงตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนให้มีความต่อเนื่อง และเป็นโครงข่าย
ที่สมบูรณ์ พัฒนารูปแบบและบริการการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล
(2) พัฒนาและส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานของการประกอบธุรกิจ การบริการ และการลงทุนที่โดดเด่น
ในภูมิภาค โดยสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนร่วมระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และส่งเสริมการค้าและการบริการชายแดน และบูรณาการแผนการพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
(3) ส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ (Outward investment) โดยพัฒนาผู้ประกอบการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถพัฒนาธุรกิจร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน
(4) เปิดประตูการค้าและพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ทั้งในระดับอนุภูมิภาค และภูมิภาคที่มีความเสมอภาคกัน  (5) สร้างความเป็นหุ้นส่วน
การพัฒนากับประเทศในอนุภูมิภาค ภูมิภาค และนานาประเทศ โดยเพิ่มบทบาทและการมีส่วนร่วมของไทยในองค์การระหว่างประเทศ และเพิ่มบทบาทนำของไทยในการให้ความช่วยเหลือทางการพัฒนา
(6) บูรณาการภารกิจด้านความร่วมมือระหว่างประเทศและด้านการต่างประเทศ  (7) การเข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศระหว่างภูมิภาคโดยมีบทบาทที่สร้างสรรค์เพื่อเป็นทางเลือกในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศในเวทีโลก เพื่อรักษาสมดุลในปฏิสัมพันธ์ระหว่างไทยและมหาอำนาจต่าง ๆ
ทั้งในระดับโลกและภูมิภาค โดยรักษาบทบาทของไทยในการมีส่วนร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ของกรอบ
ความร่วมมือที่ดำเนินอยู่ (8) ส่งเสริมความร่วมมือกับภูมิภาคและนานาชาติในการสร้างความมั่นคง
นอกจากนี้ เห็นควรกำหนดแผนงานและโครงการที่สำคัญๆ เพื่อใช้ประกอบเป็นแนวทางปฏิบัติ ได้แก่ แผนงานส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ แผนงานการพัฒนา
แนวระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) โดยเร่งรัดโครงการตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ และแผนงานโครงการที่สำคัญภายใต้กรอบเอเปค อาทิ การศึกษาเชิงยุทธศาสตร์เพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก การจัดทำแผนการดำเนินการเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของการค้าภาคบริการ
ผลการพัฒนา 4 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)
ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยดีขึ้น
ผลการพัฒนาประเทศในระยะ 4 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 พบว่า ค่าดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71.62 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 72.83 ในปี 2557 และ
ร้อยละ 72.87 ในปี 2558 ซึ่งปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับปานกลางจากที่อยู่ในระดับต้องปรับปรุงในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 โดยปัจจัยเกื้อหนุนที่ส่งผลให้ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งและเป็นธรรมเพิ่มขึ้น จากปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนลดลง เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น คนไทยมีสุขภาวะดีขึ้น เนื่องจากคนไทยมีสุขภาพกายดีขึ้น รวมทั้ง สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศสมดุลเพิ่มขึ้น จากระบบนิเวศมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง และแม้ว่าชุมชนจะมีความเข้มแข็งลดลง จากความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชนลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับดี
ส่วนปัจจัยบั่นทอนที่ส่งผลกระทบต่อความอยู่เย็นเป็นสุขในสังคมไทย ได้แก่ ความอบอุ่นในครอบครัวลดลง เนื่องจากสัมพันธภาพในครอบครัวที่มีความเปราะบาง การหย่าร้างเพิ่มขึ้น และผู้สูงอายุอยู่คนเดียวมากขึ้น ขณะที่สังคมประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาลยังอยู่ในระดับที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะด้านความสมานฉันท์ทางสังคม และการมีจิตสำนึกประชาธิปไตย ที่มีค่าคะแนนดัชนีประชาธิปไตยลดลง
เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งและเป็นธรรมเพิ่มขึ้น
คนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้น และสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศสมดุลเพิ่มขึ้น
ความเข้มแข็งและเป็นธรรมของเศรษฐกิจไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับดี โดยค่าดัชนีเพิ่มจาก
ร้อยละ 78.99 ในปี 2555 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 เป็นร้อยละ 81.50 ในปี 2558 เป็นผลจากความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 77.95 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 91.23
ในปี 2558 เนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ลดลง ช่องว่างรายได้ระหว่างกลุ่มคนจนที่สุดกับคนรวยที่สุดลดลงจาก 11.81 เท่า ในปี 2555 เป็น 10.31 เท่าในปี 2558 
สำหรับสุขภาวะของคนไทย ในภาพรวม ดัชนีสุขภาวะซึ่งพิจารณาในเรื่องสุขภาพกายและจิต พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71.52 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 73.74 ในปี 2558 เนื่องจากคนไทยมีสุขภาพกายที่ดีขึ้น อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้มีแนวโน้มลดลง และสติปัญญาและใฝ่รู้มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต้องปรับปรุง โดยแม้ว่าเด็กและเยาวชนได้รับโอกาสทางการศึกษาสูงขึ้น ปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นจาก 8.0 ปี ในปี 2555 เป็น 8.5 ปี ในปี 2558 และอัตราการเรียนรู้ของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47.36 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 50.43 ในปี 2558 แต่อย่างไรก็ตาม คุณภาพการศึกษายังคงต้องเร่งปรับปรุง สำหรับในด้านการมีคุณธรรมของคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากคดีอาญามีจำนวนลดลง
ดัชนีด้านสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศสมดุล แม้จะปรับตัวสูงขึ้น จากร้อยละ 68.45 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 69.69 ในปี 2558 แต่ยังอยู่ในระดับต้องปรับปรุง โดยความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 82.38 ในปี 2558 จากร้อยละ 79.13 ในปี 2555 เนื่องจากทรัพยากรประมงมีความอุดมสมบูรณ์ ปริมาณปลาหน้าดินที่จับได้ในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่พื้นที่ป่าไม้มีสัดส่วนลดลง  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีแนวโน้มดีขึ้น จำนวนคดีอาชญากรรมและคดียาเสพติด ในปี 2558 มีสัดส่วนลดลง   
สำหรับความเข้มแข็งของชุมชนและความอบอุ่นของครอบครัวลดลง โดยชุมชนมีความเข้มแข็งเริ่มปรับระดับลดลง แต่ยังอยู่ในระดับดี โดยในระยะแรกปรับตัวเพิ่มจากร้อยละ 81.00 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 86.35 ในปี 2556 และเริ่มลดลงเหลือร้อยละ 84.67 ในปี 2558 แต่ชุมชนยังคงมีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันและเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเพิ่มขึ้น ส่วนความอบอุ่นของครอบครัวลดลงจากร้อยละ 68.31 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 65.34 ในปี 2558 
อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญโดยแต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) และจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ขึ้นภายในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมีแนวโน้มลดลง ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index) ในปี 2558 มีแนวโน้มดีขึ้น โดยประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เท่ากับคะแนนในปี 2557 และอยู่อันดับที่ 76
จากการจัดอันดับทั้งหมด 168 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นลำดับที่ดีขึ้นจากปี 2557 ที่อยู่ในอันดับ 85 จากการ
จัดอันดับทั้งหมด 175 ประเทศทั่วโลก อีกทั้งมีค่าคะแนนและอันดับดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ที่มีค่าคะแนน 37 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 88 จาก 175 ประเทศ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศ
ในอาเซียน ประเทศไทยมีคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย
ติดตามรับชมการถ่ายทอดสด
สำหรับประชาชนที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม สามารถรับชมและรับฟังการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เวลา 9.00–11.00 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย คลื่นเอเอ็ม 819 กิโลเฮิรตซ์ เวลา 9.00-12.00 น. และเว็บไซต์ สศช. www.nesdb.go.th เวลา 9.00-12.30 น.  รวมทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น NESDB-Store และชมย้อนหลังทาง http://www.youtube.com/user/nesdbtube สำหรับเอกสารประกอบการประชุม สามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ของ สศช. เช่นกัน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์