ข่าวสาร/กิจกรรม
|
สศช. จับมือ TDRI ระดมความคิดจัดทำบัญชีเมทริกซ์สังคม
วันที่ 24 มิ.ย. 2559
|
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ณ ห้องหลานหลวง โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิด เรื่อง "โครงการจัดทำบัญชีเมทริกซ์สังคม” (Social Accounting Matrices) ซึ่งจัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (The Thailand Development Research Institute : TDRI) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมี ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. นางพัชรินทร์ ศรีนพนิคม รักษาการผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค และเจ้าหน้าที่ สศช. พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า บัญชีเมทริกซ์สังคมเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ซึ่งสามารถสร้างให้มีความเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจไทยในด้านต่างๆ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการจัดทำแบบจำลองทางเศรษฐกิจมหภาค ที่ใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายเศรษฐกิจและสังคมที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม บัญชีเมทริกซ์สังคมที่ สศช. ใช้อยู่ในปัจจุบันมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ โดยเฉพาะเป็นบัญชีเมตริกซ์ที่จัดทำขึ้นภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมา ทั้งโครงสร้างการผลิต โครงสร้างการบริโภค โครงสร้างตลาดแรงงานและประชากร รวมทั้งโครงสร้างภาษีต่างๆ ของภาครัฐ และเป็นบัญชีเมทริกซ์สังคมที่ยังไม่แยกภาคการค้าต่างประเทศตามประเทศคู่ค้า และแหล่งนำเข้ารายประเทศหรือกลุ่มคู่ค้าที่สำคัญๆ รวมทั้งโครงสร้างทางด้านตลาดแรงงานยังขาดรายละเอียด ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ผลกระทบด้านตลาดแรงงานได้ตามที่ต้องการ และส่งผลให้การวิเคราะห์เศรษฐกิจของ สศช. มีข้อจำกัดเช่นกัน
สศช. จึงได้ร่วมกับ TDRI พัฒนาบัญชีเมทริกซ์สังคมให้มีความทันสมัย มีความละเอียดของสาขาการผลิต โครงสร้างการบริโภค การลงทุน ครัวเรือน แรงงาน และโครงสร้างการส่งออกรายสินค้าและประเทศคู่ค้า ตลอดจนโครงสร้างภาษี ในระดับที่เหมาะสมและสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับแบบจำลองทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าในประเทศคู่ค้าสำคัญๆ การวิเคราะห์ผลกระทบต่อตลาดแรงงาน การวิเคราะห์ผลกระทบต่อการกระจายรายได้ การวิเคราะห์รายสาขาที่มีความละเอียดสูง ตลอดจนการวิเคราะห์ภาพรวมและการประมาณการแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น การจัดประชุมครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์สำคัญในการรับทราบถึงมุมมองที่หลากหลายของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีเมทริกซ์สังคม และจะได้นำผลจากการระดมความคิดไปปรับปรุงการจัดทำบัญชีเมทริกซ์สังคมดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป
ข่าว : ช่อผกา แก้วใหญ่
ภาพ : สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค
|