ข่าวสาร/กิจกรรม
สกว. ร่วมกับ สศช. และ UNFPA เปิดเวทีเตรียมรับมือสังคมสูงวัย ความท้าทาย-การปรับตัวสู่สมดุลใหม่
วันที่ 1 มิ.ย. 2559
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ พล.อ.อ.ประจิน  จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะ "สังคมสูงวัย : ความท้าทายและการปรับตัวสู่สมดุลใหม่” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA) เพื่อสร้างความตระหนักให้สังคมในการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัย รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อเตรียมการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยที่มีวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เป็นความท้าทายต่ออนาคตการพัฒนาประเทศไทยที่สำคัญยิ่ง และอาจเป็นข้อจำกัดของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว หากไม่มีการเตรียมการที่เหมาะสม เราต้องสร้างภูมิและความพร้อมของผู้สูงวัยให้มีสมรรถนะในการทำงานภายใต้บริบทต่างๆ รวมถึงต้องสร้างทัศนคติขึ้นใหม่ที่มีต่อผู้สูงวัย ตลอดจนมีการบริหารจัดการแรงงานใหม่ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง การสัมมนาครั้งนี้ได้เห็นความพยายามของทุกภาคส่วนในการเตรียมการรองรับเรื่องการใช้แรงงานให้เกิดประโยชน์ ในอนาคตไม่ไกลเราจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ รัฐต้องรับภาระดูแลผู้สูงวัยคู่ขนานกับการเตรียมรองรับปริมาณคนหนุ่มสาววัยแรงงานที่ลดลง เพื่อลดภาระของครอบครัวและรัฐบาล ต้องมีการดูแลสุขภาพและโรคภัยให้ผู้สูงวัยมีความสุข เกิดสมาธิและปัญญา นำความรู้และประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาใช้ประโยชน์ในทุกด้าน ซึ่งหวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะให้โอกาสผู้สูงวัยและสังคมได้ใช้ประโยชน์จากผู้สูงวัยในทุกมิติในการแสดงศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งเตรียมความพร้อมของเด็กและวัยแรงงานที่ลดจำนวนลง เพื่อนำไปสู่แนวทางในการบริหารจัดการแรงงานทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชนและการบริการต่าง ๆ ตลอดจนปัจจัยเสริมด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมอุดมสุข เพื่อให้ผู้สูงวัยมีจิตใจฮึกเหิมที่จะทำงานต่อไป โดยมั่นใจว่าจะได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ซึ่งภาครัฐจะนำไปปรับปรุงเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป 

ขณะที่ ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ทิศทางประเทศกับสมดุลใหม่ในยุคสังคมสูงวัย” ว่าอีก 15 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2574) ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด มีผู้สูงอายุเกิน 60 ปีมากกว่าร้อยละ 28 ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างมาก ทั้งมิติผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ และโจทย์ระยะยาวที่ต้องเชื่อมโยงไปถึงประชากรรุ่นถัดไป โดยเฉพาะ Gen Y ซึ่งมีประมาณ 16.45 ล้านคน หรือร้อยละ 39 ของวัยแรงงานทั้งหมด ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องให้ความสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป ทั้งนี้ การลดลงของวัยแรงงานต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ 

มิติแรก เป็นผลกระทบในระดับมหภาค ขนาดกำลังแรงงานจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกต่อไป หากต้องการหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้ระดับสูงที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงสร้างการผลิตของประเทศจะต้องเปลี่ยนจากการใช้แรงงานจำนวนมาก ไปสู่เศรษฐกิจการสร้างมูลค่าที่เน้นนวัตกรรม การขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีและภาคบริการ ควบคู่กับการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีผลิตภาพสูงขึ้น มีทั้งความรู้และทักษะฝีมือแรงงานขั้นสูง ทั้งนี้ การพัฒนาประเทศจำต้องพัฒนาวัยเด็กให้เติบโตเป็นวัยแรงงานที่มีคุณภาพ และเปลี่ยนมุมมองของผู้สูงอายุและสังคมจากภาระให้เป็นพลังที่สามารถพึ่งพิงตนเองและเกื้อหนุนสังคม 

มิติที่สอง คือ ผู้สูงอายุมีเงินไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพ ซึ่งการปิดการขาดดุลทางรายได้ของผู้สูงอายุมาจาก 4 แหล่ง คือ รายได้จากการทำงาน การถ่ายโอนทรัพย์สินในช่วงวัยหนุ่มสาว เงินโอนจากภาครัฐ และภาคเอกชน หรือครอบครัว รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการออมจึงจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติขึ้น ปัจจุบันมีกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากขึ้น นับเป็นแนวโน้มที่ดีที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการออม แต่ก็ยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย 
มิติสุดท้าย คือครอบครัว ปัจจุบันครอบครัวคู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตร และครอบครัวที่อยู่คนเดียว มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก ปัจจัยหลักที่ทำให้คน Gen Y ไม่อยากมีบุตร มาจากทั้งแนวคิดทัศนคติส่วนตัวที่มีความเป็นปัจเจกสูง อยากมีอิสระในการใช้ชีวิตตามต้องการ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่มีปัญหา ไม่เอื้ออำนวยต่อการมีบุตร และความกังวลในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สามารถหาเลี้ยงบุตรได้ เหล่านี้นับเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญว่าจะดำเนินการอย่างไรให้ครอบครัวเข้ามามีบทบาทในการผลิตและสร้างคนให้มีคุณภาพอย่างเต็มที่ 

ด้าน ศ.ดร.วรเวศม์  สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าโจทย์ท้าทายแรกในสังคมสูงวัย คือ การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งความมั่นคงทางการเงิน การดำรงชีวิตประจำวัน สุขภาพ และสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิต โจทย์ท้าทายประการต่อมาคือ สังคมไทยต้องสร้างความกระปรี้กระเปร่าของเศรษฐกิจในยุคคสังคมสูงวัย เพราะทุนมนุษย์เป็นกลจักรสำคัญของการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ประชากรวัยแรงงานที่ลดลงส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจและคุณภาพของกำลังแรงงาน โดยมีข้อกังวลว่าแรงงานที่หายไปไม่ได้มาจากการลดลงของวัยแรงงานที่ลดลง แต่รวมถึงการออกจากกำลังแรงงานก่อนวัยอันควร และวัยแรงงานที่ทำงานไปพร้อมกับการดูแลลูกและบุพการีสูงวัย สิ่งท้าทายจากนี้คือ การเงินการคล้งเพื่อสังคมสูงวัยที่เน้นการมีส่วนร่วมจ่าย ยุทธศาสตร์ที่ผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในทศวรรษหน้า และการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงานและออกจากงานก่อนวัยอันควร

โจทย์ท้าทายที่ 3 ได้แก่ ทำให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุข ภาคส่วนต่าง ๆ จะมีบทบาทอย่างไรและมากน้อยเพียงไรภายใต้สถานการณ์ของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลง ทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุยากจนที่ถูกทอดทิ้ง ผู้มีรายได้ปานกลาง และกลุ่มที่มีศักยภาพทางการเงินสูง และโจทย์สุดท้าย คือ รัฐบาลต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยการบูรณาการแผน นโยบายประชารัฐที่แบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างรัฐบาลกลางกับท้องถิ่นและชุมชนโดยใช้ประโยชน์ทุนทางสังคมในการดูแลผู้สูงอายุ การเงินการคลังเพื่อรองรับสังคมสูงวัย และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ

สำหรับบทสรุปจากการเสวนาโดยนักวิจัย สกว. และผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่าสัดส่วนแรงงานที่ลดลงจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชะลอลง และหากไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไทยจะติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางตลอดไป ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ผศ. ดร.สมประวิณ  มันประเสริฐ เสนอว่ารัฐบาลควรพิจารณาขยายอายุเกษียณการทำงาน เพื่อ ‘เลื่อน’ ผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงออกไปได้ประมาณ 10 ปี แต่มาตรการนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร แรงงานจ้างตนเองควรเรียนรู้ทักษะการบริหารองค์กรและการบริหารการเงิน ส่วนแรงงานที่เป็นลูกจ้างควรมีทักษะเฉพาะทางที่เหมาะสมกับงาน เพื่อช่วยให้ผลิตภาพการผลิตของประเทศเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว

ด้าน ผศ. ดร.ศุภชัย  ศรีสุชาติ เสนอว่ามาตรการส่งเสริมการจ้างแรงงานสูงวัยควรใช้ระบบที่มีความยืดหยุ่นตามลักษณะงานและประเภทกิจการ ซึ่งควรศึกษาเพื่อจัดวางระบบให้มีความครอบคลุมอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางและมีความลึกซึ้งในรายประเภทงาน เพื่อการปรับเปลี่ยนลักษณะงาน และการจัดการแรงงานที่เหมาะสม สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ในระยะแรกรัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจ้างงานแรงงานสูงวัยโดยความสมัครใจก่อน ด้วยการใช้มาตรการสนับสนุนทางภาษีหรือทางการเงิน และอาจใช้มาตรการเชิงบังคับในระยะที่สอง อย่างไรก็ตาม มาตรการที่จัดทำขึ้นต้องตั้งอยู่บนแนวคิดของศักยภาพและศักดิ์ศรีของแรงงานสูงอายุที่ยังคงสามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่มาตรการสงเคราะห์ผู้สูงอายุ รวมถึงการสร้างทัศนคติใหม่ของสังคมเกี่ยวกับแรงงานสูงวัย 

ข่าว : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ภาพ : อมรเทพ  ศรีประเสริฐ  สศช.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์