เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กองทุนพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNCDF) และส่วนงานการค้าและการลงทุน คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) จัดการสัมมนาหัวข้อ "Uplifting Borders : Taking the GMS to the ‘Last Mile’” ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า "พันธกิจหลักประการหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือการริเริ่มและให้การสนับสนุนกลไกความร่วมมือระหว่าง สศช. หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน โดยเฉพาะการวิเคราะห์นโยบายและการวางแผนยุทธศาสตร์ของภาครัฐ ในระดับภูมิภาค ภายใต้บริบทของประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน โดยมุ่งเน้นการสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาค ด้วยจุดประสงค์นี้เอง ประเทศไทยโดย สศช. จึงได้ร่วมมือกับสหภาพยุโรปและกองทุนพัฒนาแห่งสหประชาชาติจัดการสัมมนาครั้งนี้ขึ้น”
ภูมิภาคอาเซียนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สำหรับปี 2559 คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP ของภูมิภาคจะอยู่ที่ร้อยละ 4.7 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็นมูลค่า 136.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และจำนวนประชากรของภูมิภาคมีจำนวน 650 ล้านคน อย่างไรก็ดี การลงทุนยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลักๆ เท่านั้น
ดร.เดวิด ฮิวช์ แจคสัน ผู้อำนวยการส่วนการเงินเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น กองทุนพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNCDF) กล่าวว่า "การสัมมนานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาข้ามแดนของอนุภูมิภาค ภายใต้ชื่อ Local Transformative and Uplifting Solutions (LoTUS) กองทุนพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNCDF) ได้ศึกษาศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาบริเวณพื้นที่ชายแดนของกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจของ
อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”
การสัมมนาครั้งนี้นำเสนอผลการศึกษาพื้นที่ชายแดนและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ชายแดน อย่างไรก็ดี ยังคงมีข้อท้าทายด้านการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ฯพณฯ นายเฆซุส มิเกล ซันส์ เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า "สหภาพยุโรปมีความร่วมมืออย่างแข็งขันกับภูมิภาคอาเซียน การจัดการข้อท้าทายด้านการพัฒนานั้น จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่มีอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด การให้เงินสนับสนุนของสหภาพยุโรป เช่น การสนับสนุนการลงทุนในเอเชีย เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐในประเทศหุ้นส่วนของเรา”
การสัมมนานี้ได้รับจัดสรรเงินทุนจากสหภาพยุโรปผ่านโครงการสนับสนุนการร่วมหารือระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (PDSF)
ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับนโยบายการลงทุนและการเงิน และสร้างเครือข่ายเพื่อความร่วมมือในภูมิภาคต่อไป
ข่าว : สำนักงานประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ
ภาพ : เมฐติญา วงศ์ภักดี |