ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. ร่วมกับ UNFPA เปิดตัวรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558
วันที่ 18 พ.ค. 2559
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ทิศทางการพัฒนาประเทศกับมิติครอบครัวไทยยุคเกิดน้อย อายุยืน”  ในการแถลงเปิดตัวรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 "โฉมหน้าครอบครัวไทยยุคเกิดน้อย อายุยืน” และคุณโยริโกะ ยาซูคาวา ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิค UNFPA เป็นผู้นำเสนอเรื่อง "ความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนและผลกระทบต่อครอบครัว เมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลง” พร้อมทั้งการเสวนาเรื่อง "ครอบครัวไทยยุคเกิดน้อย อายุยืน และแนวทางการรับการเปลี่ยนแปลง” ดำเนินการเสนาโดย น.ส.จินางค์กูร  โรจนนันต์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช.
การแถลงเปิดตัวรายงานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ครอบครัวในประเทศไทยมีความหลากหลายมากขึ้น และโครงสร้างครอบครัวแบบดั้งเดิมไม่ได้เป็นบรรทัดฐานในสังคมไทยอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการพัฒนาทางประชากรส่งผลให้โครงสร้างครอบครัวเกิดความหลากหลาย ซึ่งประกอบไปด้วยครอบครัว 3 รุ่น(ครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกและปู่ย่าหรือตายายอยู่ด้วยกัน) ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว (ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เป็นผู้เลี้ยงบุตร) และครอบครัวเพศเดียวกัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีนโยบายใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของครอบครัวเหล่านี้ โดยจำนวนครอบครัวขยายที่มีคน 3 รุ่นอาศัยอยู่ด้วยกัน มีมากที่สุดของประเทศ มากกว่า 6.5 ล้านครัวเรือน หรือประมาณร้อยละ 2 ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมด
รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 "โฉมหน้าครอบครัวไทยยุคเกิดน้อย อายุยืน” ฉบับนี้  ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับ UNFPA Thailand (กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย) จัดทำ พบว่าลักษณะของครอบครัวไทยที่มีความหลากหลายมากขึ้นเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จำนวนครอบครัวที่มีโครงสร้างแบบดั้งเดิมที่ประกอบไปด้วยพ่อแม่ลูกอาศัยอยู่ด้วยกัน มีจำนวนเพียงแค่ 1 ใน 4 หรือ ประมาณร้อยละ 26.6 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 19.5 ล้านครัวเรือนในประเทศไทย ซึ่งเป็นสถิติในเวลา 26 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 - 2556
นอกจากนี้ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีจำนวนทั้งหมด 1.3 ล้านครัวเรือน (ร้อยละ 16) ในขณะที่จำนวนคู่สามี-ภรรยาที่ไม่มีบุตรพุ่งขึ้นเป็น 3 เท่าหรือร้อยละ 16 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ส่วนครอบครัวข้ามรุ่นที่ปู่ย่า/ตายายอยู่กับหลาน และครัวเรือนคนเดียวต่างเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วงเวลา 26 ปีที่ผ่านมา
จากสถานการณ์ดังกล่าว ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า "โครงสร้างประชากรของไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง และประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ศักยภาพความเจริญเติบโตของประเทศลดลง หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น”
 "อย่างไรก็ตาม การเป็นสังคมสูงวัยยังเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับประเทศไทยในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ จากความท้าทายของการเป็นสังคมสูงวัย ทิศทางการพัฒนาประเทศจึงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างและพัฒนาทุนมนุษย์ โดยการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิตให้สนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศ อย่างไรก็ตาม รูปแบบครอบครัวที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น แต่ละรูปแบบมีลักษณะเฉพาะตัว มีลักษณะปัญหาและความต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน ดังนั้น การออกแบบนโยบายจึงต้องคำนึงถึงบริบทและลักษณะปัญหาที่แตกต่างกัน”
รายงานฯ ฉบับนี้ยังเสนอแนะให้มีการพัฒนาเพื่อสร้างนโยบายและมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพื่อสนับสนุนโครงสร้างครอบครัวที่หลากหลาย รวมไปถึงการขยายและการพัฒนาการอนามัยมารดาและอนามัยการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงทำงาน ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ สภาพการทำงานให้เอื้อต่อผู้หญิง และความเท่าเทียมทางเพศในครอบครัว รวมทั้งแบ่งความรับผิดชอบระหว่างพ่อและแม่ และให้มีการจ้างงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
คุณโยริโกะ  ยาซูคาวา ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิค UNFPA ได้กล่าวเกี่ยวกับนโยบายเพื่อสนับสนุนครอบครัวว่า "เป็นสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับประเทศไทยที่จะจัดทำและดำเนินนโยบายที่สามารถส่งเสริมครอบครัวในทุกประเภทได้ และถ้าประเทศไทยจะตัดสินใจเลือกแนวนโยบายที่มุ่งเน้นในการ "ไม่ละทิ้งใครไว้เบื้องหลังเลย” นโยบายต่างๆ จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการสนับสนุนครอบครัวที่มีความเปราะบางมากที่สุด”
เมื่อกล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติที่มีเป้าหมาย 17 ด้าน ซึ่งรวมถึงการขจัดความยากจน การต่อสู้เพื่อความไม่เท่าเทียมและความไม่ยุติธรรม และจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ผู้นำทั่วโลกได้ให้คำมั่นสัญญาไว้เมือเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา คุณโยริโกะเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อครอบครัวในแบบต่างๆ ที่มีความเปราะบาง ซึ่งรวมถึงครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวและครอบครัวเพศเดียวกัน
"ครอบครัวคือหัวใจของภารกิจขององค์การสหประชาชาติที่สนับสนุนให้เกิดขบวนการพัฒนาที่เน้นการรับประกันสิทธิที่ทุกคนจะมีชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี และบนพื้นฐานนี้ครอบครัวจะสร้างสันติภาพและชุมชนที่คงอยู่อย่างถาวร ทั้งนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่รัฐจะสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถขยายขอบเขตการดูแลซึ่งกันและกันให้กว้างออกไป และเพิ่มความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อที่จะสร้างสังคมที่สงบสุขและทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งจะเป็นสิ่งที่รับประกันได้ว่าทุกคนจะสามารถมดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีโดยไม่มีการคำนึงถึงความแตกต่างที่แต่ละคนมีอยู่” คุณโยริโกะ กล่าว 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์