เกี่ยวกับ สศช.
เกี่ยวกับ สศช.
ความเป็นมา
 

          สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า "สภาพัฒน์" หรือ "สภาพัฒนาฯ" ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2493 ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยใช้ชื่อว่า "สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ" มีหน้าที่เสนอความเห็น ให้คำแนะนำ และข้อชี้แจงต่อรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ
          ต่อมา ปี 2502 ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ปรับโครงสร้างการทำงานและเปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ” และได้จัดทำ "แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ฉบับแรกขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2504 และใน พ.ศ. 2515 ได้นำกระบวนการวางแผนพัฒนาสังคมมาใช้ควบคู่กับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จึงเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น "สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” (สศช.)
          ครั้นใน ปี 2560 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล สำหรับใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการ จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ขึ้น (ปรับใหม่) เพื่อเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
          จากพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดบทบาทภารกิจของ สศช. อีกหลายด้านที่สำคัญและมีผลกระทบต่อความจำเป็นในการปรับโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของ สศช. อย่างมาก คือ การให้ สศช. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เพื่อรับผิดชอบงานด้านธุรการ ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล ความเห็น เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ
          สศช. จึงเร่งปฏิรูปองค์กรเพื่อรองรับบทบาทใหม่ โดยมุ่งปรับกลไกบริหารงานของหน่วยงานให้สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว ปรับตัวได้เท่าทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีลักษณะเป็นเชิงกลยุทธ์มากขึ้น โดยได้ปรับปรุงพระราชบัญญัติสภาพัฒน์ฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2521 ที่เรียกว่า "พระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521” เปลี่ยนมาเป็น "พระราชบัญญัติ
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561”
ซึ่งภายใต้ พ.ร.บ. ใหม่นี้ มีการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจาก "คณะกรรมการ” เป็น "สภา” โดย "สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ได้เพิ่มจำนวนองค์ประกอบของกรรมการให้มากขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาที่มีความเชื่อมโยงและซับซ้อนกันมากขึ้น นอกจากนี้ สภาพัฒน์ยังสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาช่วยปฏิบัติงานได้อีกหลายคณะ ได้แก่

  • คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง เพื่อสนับสนุนงานของสภาฯ ในการพิจารณาประเด็นการพัฒนาที่มีความซับซ้อนและต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
  • คณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่สภาฯ มอบหมาย
  • คณะกรรมการประสานการดำเนินงานด้านยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน
  • คณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาฯ ในแต่ละด้าน เพื่อทำหน้าที่ยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้านต่าง ๆ ตามกรอบที่สภาฯ กำหนด
จากการปรับรูปแบบการบริหารดังกล่าว ทำให้สภาพัฒน์มีรูปแบบคณะกรรมการที่หลากหลายมากขึ้น ประธานสภาพัฒน์สามารถเลือกใช้รูปแบบและกลไกการทำงานที่เหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนงานตามภารกิจของสภาพัฒน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การพิจารณาเรื่องที่ต้องการความเร่งด่วนหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะ ก็สามารถใช้กลไกคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ที่มีองค์ประกอบกรรมการจำนวนไม่มาก มีความคล่องตัวในการทำงานได้
 
เลขาธิการจากอดีตถึงปัจจุบัน
     
ลำดับที่ 17
นายดนุชา พิชยนันท์
2563-ปัจจุบัน
     
ลำดับที่ 16
นายทศพร ศิริสัมพันธ์
2561-2563
ลำดับที่ 15
นายปรเมธี วิมลศิริ
2558-2561
ลำดับที่ 14
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ
2553-2558
ลำดับที่ 13
นายอำพน กิตติอำพน
2547-2553
ลำดับที่ 12
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช
2545-2547
ลำดับที่ 11
นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม
2542-2545
ลำดับที่ 10
นายวิรัตน์ วัฒนศิริธรรม
2539-2542
ลำดับที่ 9
นายสุเมธ ตันติเวชกุล
2537-2539
ลำดับที่ 8
นายพิสิฏฐ ภัคเกษม
2532-2537
ลำดับที่ 7
นายเสนาะ อูนากูล
2523-2532
ลำดับที่ 6
นายกฤช สมบัติสิริ
2518-2523
ลำดับที่ 5
นายเสนาะ อูนากูล
2516-2518
ลำดับที่ 4
นายเรณู สุวรรณสิทธิ์
2513-2516
ลำดับที่ 3
นายประหยัด บูรณศิริ
2506-2513
ลำดับที่ 2
นายฉลอง ปึงตระกูล
2499-2506
ลำดับที่ 1
นายสุนทร หงส์ลดารมภ์
2493-2499

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์