ข่าวสาร/กิจกรรม
|
สภาพัฒน์ เปิดเวที “เชื่อมเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาวุฒิอาสาธนาคารสมองระดับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และภาคใต้ชายแดน” ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา
วันที่ 9 เม.ย. 2568 (จำนวนผู้เข้าชม 184)
|
เมื่อวันที่ 27-28 มีนาคม 2568 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) เปิดเวที "เชื่อมเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาวุฒิอาสาธนาคารสมอง ระดับกลุ่มจังหวัด” เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มการทำงานและสร้างเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ของวุฒิอาสาฯ ในการเป็นพลังร่วมพัฒนาประเทศ ตามเป้าหมายการพัฒนาของกลุ่มจังหวัด โดยเปิดเวทีระดมความคิดเห็นประเด็นการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ในวันที่ 27 มีนาคม 2568 ณ โรงแรมชฎา แอท นคร จังหวัดนครศรีธรรมราช และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ในวันที่ 28 มีนาคม 2568 ณ โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย วุฒิอาสาฯ จากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา) วุฒิอาสาฯ จากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ผู้บริหาร สศช. กรรมการมูลนิธิพัฒนาไท เจ้าหน้าที่ สศช. และ มพท. โดยภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 140 คน และภาคใต้ชายแดน ประมาณ 45 คน
นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำเสนอเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคใต้ สถานการณ์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด สถานการณ์ด้านประชากรที่สำคัญ การพัฒนาคนตามดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) ใน 8 มิติ อาทิ มิติด้านการศึกษา มิติด้านสุขภาพ และมิติด้านชีวิตการทำงาน พร้อมทั้งปัญหาและความท้าทายที่สำคัญ ตลอดจนการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ โดยกล่าวถึง เป้าหมายการพัฒนาภาคใต้ (พ.ศ. 2566-2570) มุ่งสู่การเป็น "แหล่งท่องเที่ยวและบริการที่มีคุณภาพ แหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและมูลค่าสูง เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค" โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาใน 6 มิติ (PEARLS) ได้แก่ (1) ยกระดับการบริการด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย และมีมูลค่าสูง (2) อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นฐานการผลิตสำหรับสาขาเศรษฐกิจสำคัญของภาค (3) ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (4) สร้างเสริมการใช้นวัตกรรมในการแปรรูปสินค้าเกษตรหลักของภาคเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (5) พัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งในและนอกของภาค และ (6) เสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่วนเป้าหมายการพัฒนาภาคใต้ชายแดน (พ.ศ. 2566-2570) มุ่งสู่การเป็น "ฐานเศรษฐกิจชายแดนที่มั่นคง บนสังคมพหุวัฒนธรรม" โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาใน 5 มิติ (PEACE) ได้แก่ (1) พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและการแปรรูป โดยเฉพาะยางพารา และปาล์มน้ำมัน (2) พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (3) เพิ่มมูลค่าทางการเกษตร (4) สร้างสังคมสันติสุขภายใต้พหุวัฒนธรรม และ (5) สนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ
สำหรับเป้าหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (พ.ศ. 2566-2570) มุ่งเน้น "พัฒนาการท่องเที่ยว การเกษตร อุตสาหกรรมชีวภาพ สู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพและมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน" โดยปัจจุบันมีสถานการณ์การพัฒนาที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 19.9 โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงสุด คือ จังหวัดพัทลุง ร้อยละ 22.2รองลงมา คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ร้อยละ 20.8 และจังหวัดสงขลา ร้อยละ 18.7 ส่วนสถานการณ์การพัฒนาคน มีค่า HAI สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยมิติด้านคมนาคมและการสื่อสารมีความก้าวหน้ามากที่สุด ขณะที่มิติด้านการมีส่วนร่วม ยังเป็นมิติที่เป็นจุดอ่อน ซึ่งกลุ่มจังหวัดนี้มีปัญหาและความท้าทายสำคัญ ประกอบด้วย ด้านประชากร การเป็นสังคมสูงวัยและเด็กเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่องในทุกจังหวัด อัตราการพึ่งพิงมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้สูงอายุจำนวนมากยังต้องทำงาน ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเข้าถึงการศึกษายังเป็นช่องว่างสำคัญ ซึ่งปีการศึกษาเฉลี่ยและอัตราการเรียนต่อยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ และการแพร่ระบาดของยาเสพติดยังรุนแรงในหลายพื้นที่ ทั้งในจังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช ด้านเศรษฐกิจ ศักยภาพในการรองรับการท่องเที่ยวยังไม่เต็มประสิทธิภาพ ทั้งท่าเรือ สาธารณูปโภคพื้นฐาน และแรงงานด้านการท่องเที่ยว มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ อาทิ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ซึ่งเกษตรกรยังขาดความรู้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการผลิต ด้านสิ่งแวดล้อม การกัดเซาะชายฝั่งทะเลเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของกิจกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล และการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ โดยวุฒิอาสาฯ ในพื้นที่ (นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา) มีการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ หมู่บ้านจัดการตนเอง บ้านทุ่งโต๊ะหย๊ะ ห้องเรียนแห่งความสุข วิสาหกิจชุมชนมัลเบอร์รี่เพื่อสุขภาพ ชุมชนเชิงเขาเทียมดา การนำเสนอวัดพระมหาธาตุเพื่อขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก การอบรมและให้องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ
จากกระบวนการระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย ได้ประเด็นการขับเคลื่อนที่สำคัญ ดังนี้ (1) โครงการสร้างนิสัยสุข สู่อายุยืน มุ่งป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยให้ความรู้ด้านสุขภาพที่ปฏิบัติได้ง่าย ทั้งโภชนาการ การออกกำลังกาย และสุขภาพจิต พร้อมปรับแนวคิดจาก "รักษาโรค" สู่ "ป้องกันโรค" ผ่านสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย รวมทั้งเชื่อมโยงทรัพยากรจากภาคีเครือข่ายมาจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะระดับพื้นที่ ในการดูแลเด็กจนถึงผู้สูงอายุ (2) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ "ความดีนำความรู้" ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบ และเรียนหนังสืออย่างมีความสุข ตลอดจนพัฒนาทักษะความรู้ โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ (3) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างยั่งยืน โดยสร้างเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการยกระดับฟาร์มเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น อาทิ สวนสมรม/สมุนไพรท้องถิ่น เกษตรอินทรีย์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพ รวมทั้งสร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรเชื่อมโยง 3 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และ (4) การจัดการปัญหาขยะให้เป็นขยะฐานศูนย์ โดยขยายผลการบริหารจัดการขยะจากพื้นที่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ไปยังโรงเรียนที่มีศักยภาพและความพร้อม ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี สร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของชุมชน การพัฒนาระบบการจัดการขยะแบบครบวงจรให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ส่วนเป้าหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (พ.ศ. 2566-2570) เน้น "ฐานเศรษฐกิจชายแดนที่มั่นคง บนสังคมพหุวัฒนธรรม” โดยปัจจุบันมีสถานการณ์การพัฒนาที่สำคัญ คือ ภาคใต้ชายแดนยังเป็นสังคมสูงวัย มีสัดส่วนผู้สูงอายุต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยมีสัดส่วนร้อยละ 13.6 ซึ่งจังหวัดยะลาและนราธิวาสมีอัตราการเกิดสูงกว่าอัตราการตาย ด้านการพัฒนาคน มีค่า HAI ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ พบว่ามิติที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด คือ ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนและความท้าทายที่สำคัญ คือ ด้านสุขภาพและประชากร อัตราการเกิดสูง แต่สุขอนามัยแม่และเด็กยังเป็นปัญหาสำคัญ และการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ปัญหาคุณภาพการศึกษาและการเข้าเรียนต่อระดับมัธยมปลายต่ำ แรงงานส่วนใหญ่ยังมีทักษะต่ำและขาดการยกระดับฝีมือแรงงาน ด้านเศรษฐกิจ ความยากจนยังมีแนวโน้มรุนแรง โดยมีสัดส่วนคนจนประมาณร้อยละ 18 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศถึง 5.3 เท่า ภาคการท่องเที่ยวมีศักยภาพ แต่ยังขาดมาตรการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สถานการณ์อุทกภัยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยวุฒิอาสาฯ ในพื้นที่มีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การเป็นวิทยากรให้องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ การจัดตั้งคณะทำงานเครือข่ายขับเคลื่อนฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน) 9 ดี เพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ การฝึกการแสดงพื้นบ้านของเผ่ามลายู ประสานและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุในการทำอาหารและขนมพื้นบ้าน และการจัดรายการวิทยุ
สำหรับประเด็นการขับเคลื่อนที่สำคัญ มีดังนี้ (1) การพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ทุกช่วงวัย มุ่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก/เด็กกลุ่มเปราะบาง ให้มีทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ มีคุณธรรมและจริยธรรมที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาสู่การเป็นพลเมืองที่ดี รวมทั้งการพัฒนาผู้สูงอายุให้มีความรู้ด้านสุขภาวะและทักษะในการดูแลตนเองให้มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถรับมือกับภัยคุกคามทางดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ (2) การสร้างสังคมสันติสุข ด้วยธรรมนูญ 9 ดี (การเป็นคนดี การมีปัญญา มีรายได้สมดุล สุขภาพแข็งแรง สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์ สังคมอบอุ่น หลุดพ้นอาชญากรรม มีการจัดตั้งกองทุนพึ่งตนเอง และมีกรรมการหมู่บ้านที่เข้มแข็ง) สนับสนุนการแก้ไขปัญหาในชุมชนอย่างตรงจุดตามหลักกฎหมายและหลักการศาสนา ด้วยการนำธรรมนูญ 9 ดี ไปปรับใช้ในการวางแผนการทำงาน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจร่วมกันของวุฒิอาสาฯ หน่วยงานภาคี และชุมชนท้องถิ่น อันนำไปสู่การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติสุขและความยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานจาก นายครรชิต เข็มเฉลิม กรรมการ มพท. และวุฒิอาสาฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา ถึงกระบวนการการทำงานแบบภาคีเครือข่ายของวุฒิอาสาฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ร่วมของจังหวัด ที่มีการกำหนดประเด็นและเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน ภายใต้ประเด็นความเชี่ยวชาญของตนเอง สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและวิเคราะห์การเชื่อมโยงประเด็นกับภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ในจังหวัดก่อน จากนั้นขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ บนฐานการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยใช้กระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Lab ที่มีการพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องผ่านแพลตฟอร์มตะวันออกฟอรั่ม ซึ่งเป็นการทำงานเชิงยุทธศาสตร์จากระดับจังหวัดและเชื่อมโยงกันเป็นระดับภาค มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ "ตะวันออกวิถีแห่งความสุข” และ "สู่โลกเย็นที่เป็นธรรม” รวมทั้งควรสรรหาคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นวุฒิอาสาฯ เพิ่มขึ้น เพื่อประสานและส่งต่องานของวุฒิอาสาฯ เดิมได้ทันที และมีพลังในการขับเคลื่อนงานได้มากขึ้น นางวณี ปิ่นประทีป กรรมการ มพท. ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การนำเรื่องธรรมนูญ 9 ดี มาขับเคลื่อนงาน สามารถเป็นตัวอย่างของการสร้างชุมชนที่อยู่กันร่วมกันอย่างเป็นสุขให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ โดยประสานงานร่วมกับภาคีเครือข่ายของสมัชชาสุขภาพ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาร่วมขับเคลื่อนงานกับวุฒิอาสาฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและผลักดันงานของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้ก้าวหน้าต่อไป และนางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ กรรมการ มพท. มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า วุฒิอาสาฯ เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้จากการปฏิบัติจริง สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่คนรุ่นต่อไป โดยการทำงานอาจสร้างภาคีเครือข่ายกับผู้ที่มีการทำงานใกล้เคียงกับตนเอง รวมเป็นกลุ่มขนาดเล็กในหลากหลายพื้นที่ และเริ่มขับเคลื่อนในพื้นที่พลังบวก ก่อนที่จะขยับไปในพื้นที่ที่เป็นพลังลบ ทั้งนี้ หากมีโอกาสจะเข้าไปหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ ในพื้นที่ต่อไป
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ประเด็นขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ที่วุฒิอาสาฯ ระดมความเห็นร่วมกัน จะสามารถเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายในระดับกลุ่มจังหวัดที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งภายหลังการระดมความเห็นในครั้งนี้ สศช. จะสังเคราะห์ประเด็นที่ได้เพื่อนำมาจัดทำเป็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานวุฒิอาสาธนาคารสมองต่อไป
ภาพ/ข่าว : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
|