ข่าวสาร/กิจกรรม
|
สภาพัฒน์จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "แนวทางการยกระดับผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาผลิตภาพแรงงานไทย"
วันที่ 31 มี.ค. 2568 (จำนวนผู้เข้าชม 327)
|
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "แนวทางการยกระดับผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาผลิตภาพแรงงานไทย (Powering Labour Productivity to Drive Growth Competitiveness)” ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ โดยมี นางสาวศศิธร พลัตถเดช รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนตัวชี้วัดและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาผลิตภาพแรงงานของประเทศไทยทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการและหน่วยงานอิสระ กว่า 130 คน จาก 80 หน่วยงาน โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารและสร้างการรับรู้ในการจัดเตรียมข้อมูลและการสำรวจความคิดเห็นที่ใช้ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภาพแรงงานไทยเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยเฉพาะการกำหนดวิธีการดำเนินการพัฒนาข้อมูลอุปสงค์ (Demand) ด้านแรงงานในอุตสาหกรรม และมีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้
ในภาคเช้า คุณพรกนก วิภูษวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้อธิบายหลักการวิเคราะห์และจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของสถาบัน IMD รวมทั้งการวิเคราะห์เปรียบเทียบผลการจัดอันดับฯ ของไทยกับประเทศต่าง ๆ ตลอดจนชี้ให้เห็นถึงจุดแข็ง จุดอ่อนของไทย โดยเชื่อมโยงกับการจัดอันดับอื่น ๆ ของสถาบัน IMD ได้แก่ World Talent Competitiveness Ranking และ World Digital Competitiveness Ranking ซึ่งใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน พบว่าประเทศไทยมีจุดแข็งจากสภาพแวดล้อมโดยรวมของประเทศที่สามารถดึงดูดการลงทุนและแรงงาน ในขณะที่มีจุดอ่อนในด้านการลงทุนวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับอันดับด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของสถาบัน IMD ที่ยังคงเป็นจุดอ่อนอย่างต่อเนื่อง
คุณอธิพงศ์ หิรัญเรืองโชค ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สศช. ได้นำเสนอผลการวิเคราะห์การพัฒนาผลิตภาพแรงงานไทย ซึ่งประกอบด้วยแผนภาพเชิงระบบ (System Map) ที่แสดงความสัมพันธ์ของกระบวนการพัฒนาแรงงานในปัจจุบัน กลไก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปัญหาและความท้าทายในกระบวนการพัฒนาแรงงาน พร้อมทั้งวิเคราะห์เจาะลึกประเด็นข้อมูลอุปสงค์แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคีการพัฒนาเห็นว่ามีความสำคัญและควรเร่งดำเนินการเป็นลำดับแรก หลังจากนั้นมีผู้เชี่ยวชาญร่วมอภิปรายและให้ความเห็น ประกอบด้วย คุณถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ และคุณพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการข้อมูลแรงงาน โดยเฉพาะตลาดแรงงาน รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ ที่จะนำไปสู่ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการมีแรงงานผลิตภาพสูง เช่น การกำหนดแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนเทคโนโลยี การปฏิรูปการศึกษาให้เน้นทักษะ (Competency-based Education) มากขึ้น โดยเฉพาะทักษะขั้นพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ทักษะภาษา การคิดวิเคราะห์ การคำนวณ การใช้งานเทคโนโลยี ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดกลไกสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น การเทียบโอนทักษะ การดึงดูดและกำหนดกลไกอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะเรื่อง VISA ให้แรงงานทักษะสูง ตลอดจนการสร้างความเป็นหุ้นส่วนในการยกระดับผลิตภาพแรงงานกับภาคเอกชน (Private sector partnership) นอกจากนี้ คุณปุณยนุช พัธโนทัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจเนเรชั่น ประเทศไทย ได้ยกตัวอย่างโมเดลการทำงานขององค์กรซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งมีที่มาจากการทำวิจัยและการศึกษาข้อมูลเชิงลึก เช่น การจัดเก็บความต้องการอุปสงค์และชุดทักษะด้วยการติดตามเรียนรู้รูปแบบการทำงานของตำแหน่งงาน (Job Shadowing) โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact) และการขยายผล (Scale) โดยการเตรียมความพร้อมแรงงานด้วย Bootcamp เพื่อพัฒนาทักษะทางเทคนิคเฉพาะ พฤติกรรม แนวคิด และความเป็นมืออาชีพ และเชื่อมโยงกับนายจ้าง ตลอดจนติดตามผู้สำเร็จการศึกษาและวัดผลการปฏิบัติงานให้การสนับสนุนและคำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง
ในภาคบ่ายได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อพัฒนาข้อมูลอุปสงค์ (Demand) ด้านแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยแบ่งผู้เข้าร่วมประชุมออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มข้อมูลอุปสงค์ในตลาดแรงงานปัจจุบัน และกลุ่มข้อมูลการคาดการณ์อุปสงค์แรงงานในอนาคต โดยมีการนำเสนอผลการประชุมที่ได้จากกระบวนการ ตั้งแต่กำหนดเป้าหมายร่วมในการพัฒนา เช่น การมีฐานข้อมูลกลางด้านอุปสงค์และอุปทานแรงงาน ในลักษณะที่เป็น Platform กลางเชื่อมโยงแรงงานจากแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และลักษณะที่แต่ละหน่วยงานนำข้อมูลอุปสงค์และอุปทานแรงงานไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งมีอภิธานศัพท์เกี่ยวกับทักษะ และระดับของทักษะแรงงานที่สามารถเชื่อมโยงกับคุณวุฒิของแรงงาน วุฒิการศึกษา และหลักสูตรการศึกษาในระดับต่าง ๆ ได้ โดยมีการระบุแนวทางและกิจกรรมที่สำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายซึ่งมีความสอดคล้องกันในภาพรวม เช่น การจัดทำ Platform กลางในการเชื่อมโยงข้อมูลอุปสงค์และอุปทานแรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งต่างประเทศ การจัดให้มีหน่วยงานหลักในการจัดการฐานข้อมูลและหน่วยงานสนับสนุนที่ช่วยในบูรณาการ การสร้างแรงจูงใจ และการให้สิทธิประโยชน์ต่อองค์กรที่ให้ความร่วมมือในการใช้ประโยชน์ของข้อมูล การพัฒนาโมเดลพยากรณ์อุปสงค์แรงงานที่ใช้ข้อมูลแบบ Real Time การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning: ML) เพื่อสนับสนุนการจัดทำอภิธานศัพท์ข้อมูล เนื่องจากในทางปฏิบัติหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวมักประสบปัญหาด้านความหลากหลายของแหล่งข้อมูล ความแตกต่างเชิงโครงสร้างและนิยามของข้อมูล ตลอดจนการขาดเกณฑ์หรือหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับการจำแนกข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน เป็นต้น หลังจากนั้น มีการสรุปผลและแนวทางการดำเนินงานระยะต่อไปของ สศช. ก่อนที่จะปิดประชุม
ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน
ภาพ : จักรพงศ์ สวภาพมงคล |