ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
เลขาธิการ สศช. พบหารือเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยออสเตรเลียพร้อมให้การสนับสนุน
วันที่ 22 มี.ค. 2568 (จำนวนผู้เข้าชม  302)
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. พบหารือกับ ดร. แอนเจลา แมคโดนัลด์ (H.E. Dr. Angela Macdonald PSM) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เกี่ยวกับการสนับสนุนไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมีคณะผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ สศช. เข้าร่วม

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ สศช. กล่าวถึงความคืบหน้าในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย โดยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ครั้งที่ 1/2568 ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบ (1) การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการฯ จำนวน 3 คณะ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในประเทศ ระหว่างประเทศ และปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ (2) การแต่งตั้งอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นผู้ประสานงานหลักในประเทศ และเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เป็นผู้ประสานงานหลักประจำการ ณ กรุงปารีส และ (3) การพิจารณาส่งเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ในช่วงกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งจะมีภารกิจหลักในการเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการ OECD ซึ่งเป็นหน้าที่ของไทยที่จะต้องเข้าร่วมตลอดกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD

ปัจจุบัน ไทยอยู่ระหว่างการจัดทำ Initial Memorandum (IM) ซึ่งเป็นเอกสารการประเมินความสอดคล้องของกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติภายในประเทศ กับตราสารทางกฎหมายของ OECD (OECD legal instrument) เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับคณะกรรมการ OECD ในการประเมินการเข้าเป็นสมาชิกของไทยในขั้นตอนถัดไป โดยขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ Portal กับหน่วยงานนำร่อง ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการแปลตราสารทางกฎหมายของ OECD จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดระยะเวลาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกรอกข้อมูลการประเมินความสอดคล้องฯ ได้ระดับหนึ่ง โดย สคก. คาดว่าจะเปิดระบบให้หน่วยงานเข้ามาใช้ได้ในเดือนเมษายน และไทยสามารถยื่น IM ให้กับ OECD ได้ภายในปี 2568

เอกอัครราชทูตฯ กล่าวชื่นชมการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย พร้อมเน้นย้ำว่าการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และแนวปฏิบัติภายในประเทศเป็นเรื่องท้าทายและอาจใช้เวลาในการดำเนินการ ซึ่งออสเตรเลียยินดีและพร้อมให้การสนับสนุนไทยในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ทั้งนี้ การเข้าเป็นสมาชิกของไทย นอกจากจะเป็นการยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมระหว่างออสเตรเลียกับประเทศในภูมิภาคดังกล่าวอีกด้วย

เอกอัครราชทูตฯ ยังได้นำเสนอโครงการฝึกอบรม Mekong-Australia Partnership Masterclass ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างทักษะ แบ่งปันความรู้ทางวิชาการ และเป็นการสร้างเครือข่ายให้กับบุคลากรภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญของไทยที่ดำเนินการเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยหัวข้อในการฝึกอบรม ประกอบด้วย ประโยชน์และผลกระทบจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD การปฏิรูปกฎหมายการลงทุน การเติบโตที่ครอบคลุม   ธรรมาภิบาลภาครัฐ และยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้มีหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง สศช. เข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วยแล้ว

เลขาธิการ สศช. กล่าวย้ำว่าไทยยินดีรับการสนับสนุนจากออสเตรเลียและประเทศสมาชิก OECD ในการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร อันจะช่วยส่งเสริมให้ไทยสามารถเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้เร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะประเด็นที่ออสเตรเลียมีความเชี่ยวชาญเพื่อนำแนวปฏิบัติที่ดีมาปรับใช้กับประเทศไทย อาทิ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภาพทางการเกษตร การส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนา (R&D) การปฏิรูปกฎหมายการแข่งขันทางการค้า การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจขนาดย่อม ความมั่นคงทางอาหาร นวัตกรรมอาหาร และการปฏิรูปการศึกษา

สามารถติดตามความก้าวหน้าการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย ได้ที่ bit.ly/43SdmE0

bit.ly/43SdmE0

TH2OECD

ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ

ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์