เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 ณ ห้องอีเทอร์นิตี้บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมเผยแพร่ผลการศึกษา "การพัฒนาและปรับปรุงแนวทางการติดตามสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทย” โดยมีสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดำเนินการศึกษา และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ รวมประมาณ 100 คน
รศช.วรวรรณฯ กล่าวว่า เส้นความยากจนเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการสะท้อนมาตรฐานการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งนำไปสู่การออกแบบนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่จะสามารถช่วยลดปัญหาความยากจน อย่างไรก็ตาม เส้นความยากจนทางการที่ใช้ในปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2556 โดยใช้แบบแผนการบริโภคจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ปี 2554 เป็นฐานการคำนวณ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและโครงสร้างการบริโภคของประชาชนในปัจจุบัน ทำให้เกณฑ์ดังกล่าวอาจไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ได้อย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเส้นความยากจนให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน เพื่อให้การออกแบบมาตรการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่นำเสนอในครั้งนี้เป็นเพียงการประมวลข้อมูลเบื้องต้น โดย TDRI จะนำความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมไปปรับปรุงผลการศึกษา และ สศช. จะมีการจัดประชุมเชิงลึกก่อนที่จะปรับปรุงเส้นความยากจนอย่างเป็นทางการ
ลำดับถัดมา ดร.สมชัย จิตสุชน ได้นำเสนอแนวคิดในการวัดเส้นความยากจน โดยใช้เกณฑ์วัดจากความต้องการอาหารและสิ่งจำเป็นขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพของแต่ละบุคคล ซึ่งมีการปรับใช้ข้อมูลชุดใหม่และการปรับเปลี่ยนปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณให้สอดคล้องกับบริบทประเทศไทยตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งกล่าวถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละแนวทาง และเปรียบเทียบผลการศึกษาในแต่ละทางเลือกไปพร้อมกัน
โดยผลการศึกษา พบว่า การปรับปรุงเส้นความยากจนในทุกทางเลือกทำให้จำนวนคนจนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้จำนวนคนจนเพิ่มขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค และรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากนโยบายการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ในปี 2555 - 2556 อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของคนจนไม่ได้หมายความว่า "คนจนลง” แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึง "มาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำที่สูงขึ้น” นอกจากนี้ ควรมีการปรับปรุงเส้นความยากจนอย่างน้อยทุก 5 ปี เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรและแบบแผนการบริโภค และหลีกเลี่ยงการเผชิญกับปัญหาการประเมินคนจนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
ในการประชุมครั้งนี้ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ร่วมแสดงความเห็น โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้จำนวนคนจนมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ควรเน้นเพียงการปรับเปลี่ยนข้อมูลที่ใช้เท่านั้น อาทิ การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการกินอาหารนอกบ้านอาจเป็นผลมาจากต้นทุนค่าเสียโอกาสของเวลา ซึ่งสะท้อนถึงพลวัตทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนอาจเลือกที่จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อประหยัดเวลาในการทำอาหารกินเอง เนื่องจากมีภาระหน้าที่อื่นเพิ่มขึ้น และยังเสนอว่า ไม่ควรยึดติดกับหลักการหรือวิธีการเพียงอย่างเดียว แต่ควรเลือกเกณฑ์การวัดเส้นความยากจนที่สามารถสะท้อนคนจนได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ในช่วงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางและเป็นประโยชน์ต่อการปรับเกณฑ์ในการพิจารณาความยากจน ซึ่งจะมีการรวบรวมและศึกษาเพิ่มเติมในระยะต่อไป
ข่าว : กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม
ภาพ: จักรพงศ์ สวภาพมงคล |