ข่าวสาร/กิจกรรม
|
สภาพัฒน์ เป็นวิทยากรร่วมเสวนางานสัมมนาทางวิชาการ “2025 : Economic & Employment Trend Forum”
วันที่ 4 ธ.ค. 2567 (จำนวนผู้เข้าชม 357)
|
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 นายวิชญ์พิพล ติวะตันสกุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน ได้รับมอบหมายให้เป็นวิทยากร ร่วมเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ "แนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค ปี 2568” ในงานสัมมนาทางวิชาการ "2025 : Economic & Employment Trend Forum” ณ ห้องประชุมพาโนรามา โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ พร้อมกับถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นโดย สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติมีผู้ร่วมเสวนาที่สำคัญ อาทิ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน นายจ้างและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการจ้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย
โดยกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 – 3.3 มีปัจจัยสนับสนุน อาทิ การใช้จ่ายของภาครัฐ การลงทุนของภาคเอกชน การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออก นอกจากนี้ สถานการณ์การจ้างงานในไตรมาสสาม ปี 2567 พบว่า ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.0 ล้านคน โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมหดตัวลงต่อเนื่อง ขณะที่สาขานอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ สำหรับหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสอง ปี 2567 พบว่า มีมูลค่า 16.32 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ร้อยละ 89.6 ซึ่งสาเหตุของการชะลอของหนี้สินครัวเรือน มาจากการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปัจจัยที่ส่งผลต่อการจ้างงานในระยะต่อไปอาทิ ความเสี่ยงจากแนวโน้มการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ที่เป็นผลจากความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค หรือปัจจัยในประเทศ อาทิ การปรับตัวของผู้ประกอบการในการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น โดยมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ดังนี้ ระยะกลาง พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมในอนาคต ปรับปรุงระบบราชการให้มีขนาดและประสิทธิภาพ ระยะยาว เพิ่มอัตราการเกิดอย่างมีคุณภาพของประชากรไทย พร้อมทั้งพัฒนาการศักยภาพและทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และผู้แทนด้านแรงงาน ต้องร่วมมือกันในการเร่งปรับตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว
ภาพ/ข่าว: กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม (กสท.)
|