เลขาธิการ สศช. เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 "การศึกษาการพัฒนาระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศไทย A Study on Carbon Emission Trading Scheme Development for Thailand” ภายใต้โครงการ Partnership for Action on Green Economy (PAGE)
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 "การศึกษาการพัฒนาระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับประเทศไทย” ในวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องกมลทิพย์ 1 ชั้น 2 โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ และทางออนไลน์ ซึ่งเป็นกิจกรรมดำเนินงานภายใต้ "โครงการ Partnership for Action on Green Economy (PAGE)” ที่เป็นกรอบความร่วมมือระดับโลก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินการด้านเศรษฐกิจสีเขียวอย่างบูรณาการ โดยมีหน่วยงานสหประชาชาติ 5 หน่วยงาน (UNIDO, UNDP, UNEP, ILO , UNITAR) เป็นพันธมิตร ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก PAGE ในปี พ.ศ. 2562 และได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยมี UNIDO และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานประสานงานหลัก
เลขาธิการฯ กล่าวว่า ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศไทยเป็นระบบที่มีความสำคัญ ซึ่งจะสามารถสนับสนุนเป้าหมายการลดของประเทศไทย ภายใต้กรอบข้อกำหนดการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดเอง NDC (Nationally Determined Contribution) ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ร้อยละ 30 จากกรณีปกติ (Business As Usual: BAU) ภายในปี พ.ศ. 2573 และจะลดลงได้ถึงร้อยละ 40 หากได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศและกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งร่วมผลักดันให้บรรลุตามเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี พ.ศ 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ภายในปี พ.ศ 2608
การจัดงานในวันนี้มี วัตถุประสงค์ 1) เพื่อเผยแพร่และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนภาคบังคับ (Emissions Trading Scheme : ETS) ให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเชิญชวนทุกฝ่ายเข้ามาแบ่งปันข้อมูล รายงานความก้าวหน้าในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมมือกันสร้างเครือข่ายเพื่อการพัฒนา ETS ที่มีประสิทธิภาพในประเทศไทย และ 2) เพื่อมีเวทีในการเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอกรณีศึกษาของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน ETS และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ มีกิจกรรมที่สำคัญ แบ่งเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย
ช่วงแรก รับฟังด้านนโยบายและปาฐกถาพิเศษ เกี่ยวข้องกับ ด้านนโยบายมาตรการลดคาร์บอน การสนับสนุนระหว่างประเทศด้านมาตรการทางการเงินในการลดคาร์บอน
ช่วงที่สอง รับฟังบรรยายทางเทคนิค เกี่ยวข้องกับการศึกษาพัฒนาโครงสร้างระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนภาคบังคับ (Emissions Trading Scheme : ETS) การประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม 10 อุตสาหกรรม และการจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ช่วงที่สาม (บ่าย) ช่วงเวทีเสวนา รับฟังทิศทางและศักยภาพของระบบ ETS และภาษีคาร์บอน (C-tax) ในประเทศไทย จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมสรรพสามิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เป็นต้น
ช่วงที่สี่ ช่วงนำเสนอประสบการณ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างประเทศ ประกอบด้วย การรับฟังรายงานความคืบหน้าของ ETS ทั่วโลก ประสบการณ์การใช้ระบบ ETS ของสหราชอาณาจักร แบบจำลองการศึกษาโอกาสงานสีเขียวจากกลไก ETS และการเปลี่ยนผ่านสังคมคาร์บอนต่ำที่เป็นธรรม รวมทั้งผลการศึกษาของ PAGE—UNDP การส่งเสริมการพัฒนาตลาดคาร์บอนในประเทศไทย
สำนักงานฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่จะได้รับจากการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ การศึกษาระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอนแบบภาคบังคับ (ETS) ในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นเวทีในการหารือสำหรับทุกภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมแสดงความคิดเห็นและประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบ ETS ให้มีประสิทธิภาพ โดยหาจุดสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมอย่างเป็นธรรม สำหรับประเทศและคนรุ่นหลังได้ต่อไป
ข่าว : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภาพ : จักรพงศ์ สวภาพมงคล
|