ระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) โดยกองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาภาค (กยภ.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาค (สพภ.) ได้จัดการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภายใต้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 โดยมีนายโสภณ แท่งเพ็ชร์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะจากการดำเนินงานของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภายใต้กลไกการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกาฯ ประกอบด้วยการประชุม 4 ครั้ง โดยมีผู้แทนจากจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เข้าร่วมจำนวน 58 คน ดังนี้
ครั้งที่ 1 วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย ผู้แทนจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 และ 2 จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย น่าน พะเยา และแพร่
ครั้งที่ 2 วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 ณ จังหวัดกระบี่ ประกอบด้วย ผู้แทนจากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และกลุ่มภาคใต้ฝั่งอันดามัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล
ครั้งที่ 3 วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย ผู้แทนจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน และภาคกลางปริมณฑล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ
ครั้งที่ 4 วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดพิษณุโลก ประกอบด้วย ผู้แทนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และ 2 จังหวัดพิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี
ผลการหารือมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) กลุ่มจังหวัดและจังหวัดมีระยะเวลาจัดทำแผนฯ ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการปรับปฏิทินการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ที่มีการปรับเปลี่ยนกำหนดการจัดส่งแผนเร็วขึ้นจาก ๓๐ กันยายน เป็นภายในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เพื่อสามารถประสานแผนและโครงการไปยังส่วนราชการ และส่วนราชการสามารถพิจารณาได้ทันกับปฏิทินงบประมาณของสำนักงบประมาณ แต่กระบวนการ One Plan จากล่างขึ้นบน ไม่สามารถเสนอปัญหา ความต้องการ และโครงการได้ทัน รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการส่วนภูมิภาค ไม่สามารถเสนอโครงการได้ทัน เพราะยังไม่ได้รับนโยบายจากส่วนกลาง (2) การเสนอโครงการของส่วนราชการในพื้นที่ในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด/กลุ่มจังหวัดมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากวิธีการบริหารจัดการโครงการและงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่มีรายละเอียดมากกว่าส่วนราชการ ทำให้ส่วนราชการไม่อยากดำเนินการ/การเพิ่มภาระ นอกจากนี้ ส่วนราชการที่มีโครงการงบลงทุน ไม่ต้องการเสนอโครงการมายังจังหวัด/กลุ่มจังหวัด เพราะต้องการเสนอขอโครงการเองเพื่อให้ได้สัดส่วนงบลงทุน : งบดำเนินการที่ 70 : 30 ตามนโยบายสำนักงบประมาณ (3) การโอนเปลี่ยนแปลงโครงการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดควรปรับให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เช่น กรณีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เป้าหมายโครงการปรับปรุงถนน ที่เปลี่ยนช่วงดำเนินการข้ามตำบล ควรให้ ก.บ.จ./ก.บ.ก. พิจารณาเห็นชอบ (4) การขออนุญาตใช้พื้นที่ของส่วนราชการมีความล่าช้า เนื่องจากแต่ละกระทรวง/กรมมีระเบียบและแนวทางปฏิบัติแตกต่างกัน โดยเฉพาะการขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตป่าไม้และเขตอุทยานฯ ส่งผลให้เกิดความล่าช้า/ยกเลิกการดำเนินโครงการ (5) การบริหารจัดการสินทรัพย์ที่เกิดจากงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ยังมีปัญหาอุปสรรค โดยเฉพาะไม่สามารถหาหน่วยงานผู้รับโอนสินทรัพย์ได้ เพราะเป็นนโยบายจากส่วนกลาง ปัญหาสินทรัพย์คงค้างจากการเปลี่ยนแปลง/ยกเลิกกลุ่มจังหวัดเดิม แต่บัญชีสินทรัพย์ในระบบของกรมบัญชีกลางยังคงอยู่ และต้องขอให้จังหวัดในกลุ่มจังหวัดเดิมรายงานทุกปี (6) การประสานแผนของส่วนราชการให้จังหวัดทราบ (ตามมาตรา 31) ยังมีน้อย ทำให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงแผนปฏิบัติราชการประจำปีของส่วนราชการที่จะดำเนินการในพื้นที่ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของส่วนราชการ ไม่ได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ เช่น การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดำเนินการย้ายไปจังหวัดอื่น และ (7) ศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนงาน/โครงการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดยังมีจำกัด เนื่องจากการโยกย้าย/เป็นข้าราชการใหม่ จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรโดยจัดอบรม หรือจัดทำคู่มือในการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถรับช่วงงานต่อได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สำนักงานฯ จะดำเนินการจัดประชุมฯ อีก 5 ครั้ง ในจังหวัดปัตตานี ขอนแก่น นครพนม ราชบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อรับฟังความคิดเห็นให้ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด และ 18 กลุ่มจังหวัด และจะประมวลความเห็นและข้อเสนอแนะของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงแนวปฏิบัติในการบริหารงานเชิงพื้นที่ให้เหมาะสม มีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกาฯ สามารถตอบโจทย์การพัฒนา/แก้ไขปัญหาให้อย่างสอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
ภาพ / ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาภาค (กยภ) และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาค (สพภ.)
|