ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระบวนการทำงานของภาคประชาสังคมในการหนุนเสริมการทำงานร่วมกับภาครัฐ
วันที่ 30 พ.ค. 2567 (จำนวนผู้เข้าชม  15)
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้การต้อนรับผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคมจาก 10 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ลำพูน สุรินทร์ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ สุพรรณบุรี จันทบุรี ชุมพร และสตูล พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานภาคี อาทิ ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9 สสส.) นายวันชัย บุญประชา กรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม และ นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อค้นพบจากการทำงานของภาคประชาสังคมในการเป็นหุ้นส่วนจังหวัด และการจัดการข้อมูลเพื่อผลักดันแนวทางส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมร่วมหนุนเสริมการจัดบริการสาธารณะของภาครัฐให้ประชากรทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเข้าถึงได้ ณ ห้องประชุม 521 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนากลไกให้ภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามาร่วมดำเนินการในลักษณะนวัตกรรมการให้บริการในการตอบสนองความต้องการของประชาชนภายใต้หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

โดยในช่วงแรก นางภรณีฯ ได้นำเสนอสรุปบทเรียน "การสนับสนุนภาคประชาสังคมให้หนุนเสริมการทำงานร่วมกับภาครัฐ : จากอดีตถึงปัจจุบัน” เพื่อชี้ให้เห็นบทบาทสำคัญของภาคประชาสังคมในกระบวนการร่วมจัดบริการสาธารณะ ได้แก่ (1) การนำกฎหมายที่มีอยู่มาส่งเสริมให้เกิดการใช้งานได้จริงด้วยการเชื่อมประสานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 การแก้ปัญหาผู้ไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลหรือเข้าสู่ระบบการศึกษา ปัจจุบันมีจำนวนถึง 484,661 คน (2) การพัฒนานวัตกรรมในการจัดบริการสาธารณะเพื่อกลุ่มเปราะบางโดยอาศัยการทำงานที่ยืดหยุ่นและคิดนอกกรอบ อาทิ นวัตกรรมที่อยู่อาศัยคนละครึ่งสำหรับคนไร้บ้าน กิจกรรมวิ่งด้วยกันของคนพิการ ซึ่งได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ และได้รับสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และ (3) การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรม จนถึงพัฒนาไปเป็นกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... เป็นต้น

ต่อมา ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้ง 10 จังหวัด นำเสนอข้อค้นพบจากการดำเนินงานและสำรวจข้อมูลของกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้โครงการส่งเสริมองค์กรภาคประชาสังคมระดับจังหวัดเป็นหุ้นส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเฉพาะ ซึ่งค้นหาและจำแนกข้อมูลประชากรกลุ่มเปราะบางใน 10 จังหวัด 22 ตำบล แยกเป็น 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ (1) กลุ่มผู้สูงอายุเปราะบางในเขตเมืองและชนบท อาทิ ผู้สูงอายุที่ยากจน/มีหนี้สิน อาศัยอยู่ลำพัง ติดเตียงหรือเป็นผู้พิการ และเข้าไม่ถึงสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล (2) กลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าถึงบริการสุขภาพของรัฐด้วยความยากลำบาก (3) กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นและผู้ไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร และ (4) กลุ่มสตรีมุสลิมที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมได้แลกเปลี่ยนถึงช่องว่างในการจัดบริการภาครัฐ และบทบาทของภาคประชาสังคมที่มาช่วยเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว อาทิ การไม่มีสิทธิในการเข้าถึงบริการของภาครัฐเนื่องจากไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร การให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุเปราะบางที่เดือดร้อนเร่งด่วนได้ทันการณ์ และการเปิดพื้นที่ในการสะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว 

ในการนี้ รศช.วรวรรณฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น เรื่องบทบาทสำคัญของภาคประชาสังคมที่จะมาหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสิทธิและบริการของภาครัฐ โดยได้เสนอแนะให้มีการถอดบทเรียนการดำเนินงานของภาคประชาสังคมในแต่ละพื้นที่ตามกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งอาจจัดเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเปราะบางในประเภทต่าง ๆ กลุ่มผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎรที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐ กลุ่มผู้หญิงมุสลิมที่ได้รับความรุนแรงจากครอบครัว ว่าในแต่ละกลุ่มนั้นภาคประชาสังคมเข้าไปช่วยหนุนเสริมภาครัฐดำเนินการในประเด็นอะไร โดยวิธีใด และมีปัญหาอุปสรรคใดที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพื่อที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ จะทำให้เห็นประเด็นร่วมที่สำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค งบประมาณสำหรับดำเนินการในพื้นที่ การเข้าถึงระบบการลงทะเบียนของภาครัฐเพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมได้เข้ามีส่วนร่วม โดยในระยะต่อไป สศช. จะได้ประสาน Stakeholder ที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกันเพื่อที่จะหาแนวทางปลดล็อคปัญหาอุปสรรคดังกล่าว

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ได้ให้ความสำคัญกับการสื่อสารประเด็นที่จะดำเนินการในพื้นที่ ที่นอกจากภาครัฐและภาคประชาสังคมแล้ว กลุ่มเปราะบางในพื้นที่ควรต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสะท้อนถึงประเด็นปัญหาในแต่ละกลุ่ม เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ สอดคล้องกับแนวคิด "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ทั้งนี้ สศช. ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 13 จะดำเนินการจัดทำ Policy dialogue ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการปิดช่องว่างในการให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการกับภาครัฐและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข่าว/ภาพ : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์