ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์จับมือจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดยะลา ทดลองนำร่องระบบนิเวศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
วันที่ 29 พ.ค. 2567 (จำนวนผู้เข้าชม  4)
เมื่อวันที่ 7 - 8 พฤษภาคม 2567 นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานทดลองนำร่องการบูรณาการในระบบนิเวศเพื่อความเสมอภาคและความเท่าเทียมในระดับพื้นที่ ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คัดเลือกจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดยะลา เป็นพื้นที่ทดลองดำเนินการ (Policy Sandbox) ระบบสนับสนุนทางสังคมที่เป็นรูปธรรมจากความร่วมมือของภาคีเครือข่าย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ

โดยในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 รองเลขาธิการฯ พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้เข้าพบนายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ณ ห้องประชุมสำนักงานจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงานทดลองนำร่องการบูรณาการในระบบนิเวศฯ โดยคัดเลือกจังหวัดปราจีนบุรีเป็นพื้นที่ทดลองนำร่อง ประเด็นการพัฒนากลไกภาคีเครือข่ายในการสร้างพลังทางสังคมในระดับจังหวัด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง มีเครื่องมือ และภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนจากภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชน ที่สามารถขยายผลและเชื่อมโยงการดำเนินงานในพื้นที่ตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับภาค โดย สศช. มอบหมายให้มูลนิธิสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เป็นผู้ดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายทางสังคมในจังหวัดปราจีนบุรี 

ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อแนวทางการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์และประเด็นเร่งด่วนของจังหวัด อาทิ การบริหารจัดการขยะและกากของเสียอุตสาหกรรม การพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการทำเกษตรกรรมมูลค่าสูง โดยคาดหวังว่า ผลการดำเนินโครงการฯ จะทำให้เห็นถึงกระบวนการก่อรูปของเครือข่ายทางสังคมปราจีนบุรี เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ออกแบบการพัฒนา และเชื่อมโยงนโยบายมาสู่การขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ในระดับพื้นที่ได้

ทั้งนี้ สศช. ร่วมกับมูลนิธิสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้มีการจัดเวที Kick-off  ต่อมาในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ณ ทวาราวดี รีสอร์ท โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนในจังหวัดปราจีนบุรี กว่า 70 คน ร่วมกันระดมความเห็นปัจจัยที่เอื้อต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ และออกแบบการขับเคลื่อนในประเด็นการบริหารจัดการน้ำ การจัดการขยะ การยกระดับเกษตรอินทรีย์ และอื่น ๆ เช่น ปัญหาช้างป่า การวางผังเมือง ปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เป็นต้น รวมทั้งวางแผนทดลองสร้างความร่วมมือรูปธรรมแต่ละประเด็น

ต่อมาในวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 รองเลขาธิการฯ พร้อมด้วยคณะทำงาน และที่ปรึกษาจากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าพบนายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ณ ห้องฉลองเมือง ศาลากลางจังหวัดยะลา เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงานทดลองนำร่องการบูรณาการในระบบนิเวศเพื่อสร้างหลักประกันทางสังคมในระดับตำบล โดยได้คัดเลือกตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่ทดลองนำร่อง ซึ่งพื้นที่ยังมีประเด็นท้าทายในด้านโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาและบริการสังคมของเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินงาน

ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาในฐานะเครื่องมือการพัฒนาและสร้างสันติภาพในจังหวัด โดยควรมีการออกแบบระบบการศึกษาที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการศึกษาสายอาชีพเพื่อให้เยาวชนกลุ่มเปราะบางได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ นำมาสู่การรับเข้าทำงานในสถานประกอบการต่อไป

จากนั้นเป็นการประชุม Kick off ร่วมกับนายมะสดี หะยีปิ นายกเทศมนตรีตำบลท่าสาป พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา หัวหน้างานปฏิบัติการชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นายกสมาคมสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่าสาป และกลุ่มอาสาสมัครในตำบลท่าสาป โดยรองเลขาธิการฯ กล่าวแนะนำที่มา วัตถุประสงค์ของโครงการ และเป้าหมายของการทดลองนำร่องการบูรณาการเพื่อสร้างหลักประกันทางสังคมแก่เด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางในตำบลท่าสาป จังหวัดยะลา จากนั้น อ.ดร.ศิญาณี หิรัญสาลี หัวหน้าโครงการฯ จากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน และสรุปภาพรวมระบบนิเวศของการสร้างหลักประกันทางสังคมจากการศึกษาในปี 2566 ที่ได้ถอดบทเรียนการทำงานของกลุ่มลูกเหรียงในการสร้างหลักประกันทางสังคมแก่เด็กและเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความเห็น โดยให้ความสำคัญกับการสร้างและพัฒนากลไกการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนประจำตำบล ตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจข้อมูล การจำแนกประเภท การส่งต่อความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนการติดตามจนสิ้นสุดความช่วยเหลือ ซึ่งจะถูกนำไปพัฒนาเป็นแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อยกระดับการทำงานสร้างหลักประกันทางสังคมแก่กลุ่มเปราะบางให้มีความต่อเนื่องและสอดรับกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้ ในการทดลองนำร่องของทั้ง 2 พื้นที่ จะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพื้นที่ละอย่างน้อย 4 ครั้ง เพื่อ (1) สำรวจสถานการณ์ ทุนที่มีอยู่ สภาพปัญหาและความต้องการของผู้เล่นหลักในพื้นที่ (2) กำหนดเป้าหมายและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เชื่อมโยงการทำงานของผู้เล่นจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยใช้ฐานข้อมูลและระบบจัดการความรู้ (3) พัฒนาศักยภาพให้กลไกในพื้นที่ (Capacity Building) โดยประสานภาคีเครือข่าย และ (4) ติดตามและประเมินผลการทำงานแบบมีส่วนร่วม ก่อนจะถอดเป็น Model ของระบบนิเวศฯ เพื่อขยายผลการพัฒนาในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
 

ข่าว/ภาพ : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์