เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้การต้อนรับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมและผู้แทนหน่วยงาน อาทิ นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ อนุกรรมการด้านแผนงานการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สสส. สำนัก 9) นายวันชัย บุญประชา กรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม และเครือข่ายภาคประชาสังคมจาก 10 จังหวัด เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเปราะบาง ณ ห้องประชุมสุนทร หงส์ลดารมภ์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และช่องทางออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM
นางสาวบุษยรัตน์ฯ ได้นำเสนอโครงการส่งเสริมองค์กรภาคประชาสังคมระดับจังหวัดเป็นหุ้นส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเฉพาะ โดย สสส. ร่วมกับสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.) หนุนเสริมการทำงานของภาคประชาสังคมใน 10 จังหวัด ให้เป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐในระดับพื้นที่ ในการจัดบริการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มเฉพาะ โดยร่วมกันกำหนดเป้าหมาย วางแผนการทำงาน ออกแบบบริการที่ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทดลองจัดบริการ ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการส่งเสริมภาคประชาสังคมมาร่วมจัดบริการอย่างเป็นทางการ ครอบคลุมประชากรกลุ่มเปราะบางหรือมีความต้องการเฉพาะใน 10 จังหวัด 22 ตำบล ประกอบด้วย (1) กลุ่มสตรีมุสลิมที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว จังหวัดสตูล (2) กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นและผู้ไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร์ จังหวัดชุมพร (3) กลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าถึงบริการสุขภาพของรัฐด้วยความยากลำบาก จังหวัดลำพูน (4) กลุ่มคนจนเมืองที่เป็นผู้สูงอายุที่ป่วยหรือพิการ จังหวัดอำนาจเจริญ และ (5) กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงในครอบครัวรายได้น้อย จังหวัดพะเยา จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดจันทบุรี ทั้งนี้ เพื่อเติมเต็มช่องว่างในการจัดบริการของภาครัฐที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ บุคลากร และกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะของกลุ่มเปราะบางได้ดียิ่งขึ้น โดยใช้กลไกภาคประชาสังคมร่วมขับเคลื่อนและมีการบริหารจัดการการทำงานให้เชื่อมโยงกับภาครัฐ สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาประเทศในยุทธศาสตร์ชาติด้านโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพการให้บริการโดยสนับสนุนการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นมาร่วมจัดบริการ หรือดำเนินการแทนภาครัฐ เพื่อให้เข้าถึงประชากรทุกกลุ่ม
ลำดับต่อมา นางภรณีฯ ได้นำเสนอการดำเนินงานของ สสส. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพของประชากรกลุ่มเฉพาะ ใน 9 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนไร้บ้าน แรงงานนอกระบบ ประชากรข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม LGBTIQN+ กลุ่มผู้ต้องขัง และสตรีมุสลิม โดย สสส.สำนัก 9 ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ องค์ความรู้ การจัดทำข้อเสนอนโยบาย การเชื่อมโยงเครือข่าย การสร้างพื้นที่ต้นแบบ และการสื่อสารสาธารณะ รวมทั้งยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อสังคมสุขภาวะ โดยร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินโครงการนำร่องใน 5 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ระยอง อุบลราชธานี สมุทรสาคร และสงขลา เพื่อสร้างระบบสวัสดิการเชิงพื้นที่ที่เหมาะสมตามความต้องการของประชากรกลุ่มเปราะบาง นำมาสู่การมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยหนุนเสริมความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้ทำงานร่วมกับ พมจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด
ในการนี้ รศช.วรวรรณฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นการสร้างความยั่งยืนให้ภาคประชาสังคมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคมในกลไกการทำงานร่วมกับภาครัฐ อาทิ การบูรณาการผ่านงบประมาณกลุ่มจังหวัดในการสนับสนุนโครงการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเปราะบาง การส่งเสริมให้ใช้ดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index : HAI) เป็นกรอบในการจัดสรรงบประมาณเพื่อลดช่องว่างระหว่างพื้นที่ การปรับปรุงแนวทางคัดเลือกผู้แทนภาคประชาสังคมในองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) เพื่อให้ครอบคลุมภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนประเด็นประชากรกลุ่มเปราะบางมากขึ้น เช่น คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ เด็ก ผู้สูงอายุ แรงงาน เป็นต้น และการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงานในภาคประชาสังคม โดยส่งเสริมให้มีตัวชี้วัดระดับกระทรวงเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของภาคประชาสังคมในการดูแลประชากรกลุ่มเปราะบาง
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับประเด็นการจัดทำฐานข้อมูล เพื่อแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานของภาคประชาสังคมที่ช่วยเติมเต็มการทำงานของภาครัฐ อาทิ การจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกรายครัวเรือนที่ภาครัฐยังไม่มีการจัดเก็บ อาทิ ผู้สูงอายุติดเตียงที่ไม่มีคนดูแล คนไร้สถานะที่ไม่มีเลข 13 หลัก หรือเข้าไม่ถึงสวัสดิการต่าง ๆ และข้อมูลปัญหาอุปสรรคจากการทำงานของภาคประชาสังคม อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคสำคัญต่อการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของภาคประชาสังคม อาทิ (1) คนทำงานภาคประชาสังคมยังขาดความเชี่ยวชาญในการร่วมจัดบริการเฉพาะทาง (2) การประสานงานทั้งหน่วยงานระดับนโยบายและระดับปฏิบัติภายในจังหวัดยังไม่ราบรื่น (3) กฎระเบียบไม่เอื้อหรือไม่สนับสนุนการทำงานจัดบริการของภาคประชาสังคม (4) ค่าตอบแทนไม่จูงใจให้มาร่วมจัดบริการ และ (5) ไม่มีเงินอุดหนุนจากภาครัฐในการร่วมจัดบริการ ในการนี้ จึงจำเป็นต้องเร่งสนับสนุนให้เกิดรูปธรรมการดำเนินงาน ควบคู่กับการจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบางที่ภาคประชาสังคมได้ดำเนินการในพื้นที่ เพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการสนับสนุนความร่วมมือจัดบริการที่เติมเต็มการทำงานของภาครัฐ นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกกลุ่ม
ข่าว : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี/กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม
|