ข่าวสาร/กิจกรรม
|
สศช. ประชุมหารือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เพื่อแสวงหาโอกาสและแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือด้านการพัฒนาเมืองภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13
วันที่ 12 ก.พ. 2567 (จำนวนผู้เข้าชม 15)
|
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางสาวชณกช ชสิธภนญ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง ได้ประชุมหารือกับ Mr. Heinrich Gudenus ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) และเจ้าหน้าที่องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและหารือเกี่ยวกับโอกาสและแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือกับ สศช. ด้านการพัฒนาเมืองตามหมุดหมายที่ 8 ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญหนึ่งคือการพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่อย่างยั่งยืน มีความพร้อมในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ ณ ห้องประชุมสุนทร หงส์ลดารมภ์ สศช. และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
Mr. Heinrich Gudenus นำเสนอโครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาเมืองแบบคาร์บอนต่ำและฟื้นตัวได้ และเพื่อมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการฯ ให้ความสำคัญกับบริบทของประเทศ และส่งเสริมกฎระเบียบที่มีอยู่ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน 4 ด้าน ได้แก่ (1) การปรับปรุงสภาพแวดล้อมและกลไกเชิงสถาบันสำหรับการพัฒนาเมืองที่อ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศ (2) การเพิ่มพูนความรู้โดยสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับภูมิภาค (3) การวางแผนพัฒนาเมืองและการวางผังบนพื้นฐานข้อมูลภูมิอากาศ และ (4) การสนับสนุนการพัฒนาแนวคิดโครงการสำหรับการลงทุน โครงการฯ ดำเนินงานภายใต้ 6 แนวทางหลัก ได้แก่ (1) ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ (2) ถ่ายทอดความรู้และพัฒนาขีดความสามารถ (3) บูรณาการในระดับท้องถิ่น (4) วางมาตรการเป้าหมาย (5) ใช้ประโยชน์จากกลไกการสนับสนุนทางการเงิน (5) เสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมี 5 ประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งดำเนินการใน 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต ทั้งนี้ ระยะเวลาดำเนินงานโครงการ Urban-Act ตั้งแต่เมษายน 2565 ถึง ธันวาคม 2570
สศช. พร้อมสนับสนุนโครงการ Urban Act โดยการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เนื่องจากโครงการฯ มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่มุ่งสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงภายใต้บริบทใหม่ โดยเฉพาะหมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่ และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ บทเรียนที่ได้รับจากโครงการฯ จะเป็นข้อมูลสำคัญต่อการเตรียมจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ต่อไป
...............................................................................
กองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
|