ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์ ร่วมกับ UNFPA จัดการประชุมเผยแพร่บัญชีกระแสการโอนประชาชาติ : เครื่องมือเชิงนโยบายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
วันที่ 20 ธ.ค. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม  68)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย จัดการประชุมเผยแพร่บัญชีกระแสการโอนประชาชาติ : เครื่องมือเชิงนโยบายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเสวนา หัวข้อ "การนำข้อมูลบัญชีกระแสการโอนประชาชาติไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบายในประเทศไทย” โดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมคอร์ทยาร์ด บาย แมริออท กรุงเทพมหานคร นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุม "บัญชีกระแสการโอนประชาชาติ : เครื่องมือเชิงนโยบายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” และการเสวนา หัวข้อ "การนำข้อมูลบัญชีกระแสการโอนประชาชาติไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบายในประเทศไทย” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากผู้แทนหน่วยงานระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ รวมประมาณ 75 คน

นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำปัจจัยด้านประชากรมาใช้ในกระบวนการออกแบบและกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมสูงวัย เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้วในปี 2566 และจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2576 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและภาระทางการคลังของประเทศในอนาคตอย่างชัดเจน ทั้งจำนวนแรงงานที่กำลังปรับตัวลดลง ความต้องการการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นตามอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยที่เพิ่มขึ้น และภาระทางการคลังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตจากรายจ่ายด้านหลักประกันรายได้วัยเกษียณและด้านสาธารณสุข พร้อมชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมในวันนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ ปี 2564 (National Transfer Accounts 2021: NTA 2021) ต่อสาธารณะ และหารือร่วมกันถึงแนวทางการนำข้อมูลดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบและกำหนดนโยบายในประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร ขณะที่นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ UNFPA ประจำประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงประโยชน์ของการนำข้อมูล NTA มาใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การออกแบบและกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศอยู่บนข้อมูลเชิงประจักษ์ตอบโจทย์การพัฒนาประชากรอย่างครอบคลุมทุกเพศและทุกช่วงวัย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และได้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายในมิติอื่น ๆ อาทิ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้ข้อมูลข่าวสารทั้งจริงและเท็จเกิดขึ้นจำนวนมาก การโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงาน ทั้งภายในและระหว่างประเทศ แรงงานคนไทยและชาวต่างชาติ แรงงานมีทักษะและไม่มีทักษะ ซึ่งมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและการนำข้อมูล NTA ที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ไปใช้เพื่อการพัฒนาประชากรของประเทศต่อไป

ลำดับถัดมา นางสุพัณณดา เลาหชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนารายได้และการกระจายรายได้ ได้นำเสนอผลการจัดทำ NTA ดังนี้ (1) ที่มาและความสำคัญ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว วัยเด็กและวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่ประชากรวัยสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นที่มาของการจัดทำ NTA ที่เป็นการบันทึกกระแสการเงินของประชากรวัยต่าง ๆ ภายในประเทศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเชิงนโยบาย (2) กรอบแนวคิดของ NTA ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก คือ การขาดดุลรายได้ตามช่วงวัย (Life Cycle Deficit: LCD) ที่แสดงช่องว่างระหว่างรายได้จากแรงงานและรายจ่ายเพื่อการบริโภค และการจัดสรรระหว่างช่วงอายุ (Age Reallocation: AR) ที่นำเสนอรูปแบบการชดเชยช่องว่างระหว่างรายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้น (3) ผลการจัดทำ NTA พบว่า ในปี 2564 วัยแรงงาน อายุ 27 - 57 ปี เป็นเพียงช่วงวัยเดียวที่มีการเกินดุลรายได้ ซึ่งจากรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค พบว่า ด้านการศึกษา ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายของวัยเด็ก/วัยเรียน/นักศึกษา ด้านสุขภาพ ภาครัฐจะค่อย ๆ มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในวัยสูงอายุ ขณะที่รายจ่ายอื่น ๆ ภาคเอกชนจะจ่ายเองเป็นหลัก ในส่วนการจัดสรรระหว่างช่วงอายุ ช่วงวัยเด็กได้มีการชดเชยการขาดดุลผ่านการโอนจากพ่อแม่เป็นหลัก และการโอนจากภาครัฐ อาทิ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ขณะที่วัยแรงงานมีการเกินดุลรายได้จะสามารถโอนส่วนเกินไปช่วยชดเชยการขาดดุลของช่วงวัยอื่น ๆ มีการเสียภาษีให้ภาครัฐ และลงทุนในสินทรัพย์/การออมเพื่อการเกษียณ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุรายได้จากแรงงานที่ลดลงทำให้มีการขาดดุลรายได้อีกครั้งและเปลี่ยนกลับมาเป็นผู้รับโอนจากบุตรหลาน การจัดสรรสินทรัพย์ และการโอนภาครัฐ และ (4) แนวทางการนำข้อมูล NTA ไปใช้ประโยชน์ โดยประชาชนสามารถใช้ในการเตรียมความพร้อมและวางแผนการจัดการทางด้านรายได้ ภาครัฐสามารถใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ประกอบการจัดทำนโยบายให้มีความแม่นยำและมีประสิทธิผลมากขึ้น และภาควิชาการสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ร่วมกับแบบจำลองต่าง ๆ อาทิ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ผลกระทบจากเหตุการณ์หรือนโยบาย

ในช่วงสุดท้าย เป็นการเสวนาการนำข้อมูลบัญชีกระแสการโอนประชาชาติไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบายในประเทศไทย โดย

ดร.วาสนา อิ่มเอม กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้นำเสนอความเป็นมาของ NTA ว่าเริ่มมาจากแนวคิด Wealth Flow Theory ของ John Caldwell และต่อมา Andrew Mason และ Ron Lee จึงได้นำมาพัฒนาโดยวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลรายได้และรายจ่ายเพื่อการบริโภค จนทำให้เห็นลักษณะของการโอนสินทรัพย์ระหว่างช่วงวัย ซึ่งสำหรับประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนา NTA อย่างมาก และได้นำเสนอข้อค้นพบสำคัญ ดังนี้ ด้านประชากร อัตราการเกิดของประเทศไทยลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ประชากรจะมีอายุยืนยาวขึ้น โดยเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวและเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้มากกว่าเพศชาย ด้านการจัดสรรงบประมาณ พบว่าประเทศไทยมีการลงทุนด้านการศึกษาเป็นจำนวนมากแต่ผลลัพธ์ทางการศึกษายังอยู่ในระดับต่ำสะท้อนให้เห็นได้จากคะแนน PISA 2022 ด้านครอบครัว พ่อแม่ที่อยู่กับลูก
มีจำนวนลดลงมาก อีกทั้งครอบครัวสมัยใหม่ยังมีแนวโน้มจะมีลูกเพียงคนเดียว ส่งผลต่อการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตที่อาจจะเปลี่ยนจากการดูแลโดยครอบครัวไปสู่การดูแลโดยสถาบันอื่น ๆ นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปยังมีน้อยมาก สอดคล้องกับข้อมูล NTA ที่พบว่า รายได้ประชากรลดลงอย่างมากในช่วงหลังเกษียณ ทั้งนี้ ได้ให้ข้อเสนอแนะในการกำหนดนโยบายว่า นโยบายไม่สามารถบังคับให้คนมีบุตรได้ แต่นโยบายควรมุ่งเน้นที่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ผ่านการลงทุนในการสร้างสภาพแวดล้อมสังคมที่ปลอดภัย และระบบนิเวศที่เหมาะสมกับการเติบโตอย่างมีคุณภาพของคนทุกช่วงวัย ตลอดจนเอื้อให้วัยแรงงานทั้งพ่อและแม่สามารถทำงานและมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูบุตรได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งจะช่วยให้ความต้องการและความพร้อมในการมีบุตรของครอบครัวเพิ่มขึ้นได้

รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงจุดแข็งของ NTA ว่าช่วยให้เห็นภาพของทั้งรายจ่ายและรายได้ที่มาจากเงินโอนของทั้งภาครัฐและเอกชน และการเปลี่ยนแปลงของรายได้และรายจ่ายตลอดช่วงอายุ แต่ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับความยากในการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ โดยมีข้อเสนอแนะในการพัฒนา NTA ระยะต่อไป คือ ควรพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูล NTA จากเดิมที่เป็นข้อมูลมหภาค (Macro) ให้ไปสู่ข้อมูลจุลภาค (Micro Dataset) และจำแนกตามภูมิภาค การศึกษา หรือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ เพื่อให้เห็นภาพในระดับของรายบุคคล ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูล NTA ไปใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถต่อยอดการนำ NTA ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างฉากทัศน์ทางเลือกนโยบายและการติดตามและประเมินผลนโยบายได้อีกด้วย

ศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เน้นย้ำถึงการใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายผ่านมุมมองของผู้ใช้ข้อมูล โดยข้อมูล NTA สามารถนำไปใช้ได้ตลอดทั้งกระบวนการนโยบาย ตั้งแต่การจัดทำนโยบาย การกำหนดนโยบาย การตัดสินใจเชิงนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ และการประเมินนโยบายเพื่อนำไปสู่การดำเนินการ การปรับปรุง หรือการยกเลิกนโยบาย และได้นำเสนอข้อค้นพบจากงานศึกษาการนำ NTA มาใช้ประโยชน์ ว่าสามารถแบ่งได้เป็น 3 ขั้น (Stages) ขั้นที่ 1 คือ การจัดทำข้อมูลและนำเสนอการวิเคราะห์ระดับทั่วไป โดยนำเสนอข้อมูลจำแนกตามช่วงวัย ตามที่ สศช. ได้นำเสนอ ขั้นที่ 2 คือ การพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึก โดยจำแนกข้อมูลตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ เพศ การศึกษา สถานภาพการสมรส และขั้นที่ 3 คือ ระดับขั้นสูง เป็นการนำ NTA ไปวิเคราะห์ผ่านแบบจำลองต่าง ๆ โดยประเทศในสหภาพยุโรปนั้นมีความก้าวหน้าในการนำ NTA มาใช้ในขั้นที่ 3 ขณะที่ประเทศในเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะประเทศไทยยังมีการพัฒนาอยู่ในขั้นที่ 1 - 2 พร้อมนำเสนอ 5 ปัจจัยความสำเร็จในการนำ NTA ไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ (1) การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หมายถึง การทำข้อมูลให้มีความชัดเจนและตอบโจทย์ความต้องการของผู้กำหนดนโยบาย (2) การกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน เพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินงาน (3) การเผยแพร่สู่ภายนอกในรูปแบบคู่มือการปฏิบัติ (Practical Handbook) ที่เข้าใจได้ง่าย (4) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของทีมวิเคราะห์/จัดทำ NTA ที่มีความหลากหลายของคนทำงานจากหลายศาสตร์และสาขาวิชา และ (5) การเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะในรูปแบบที่พร้อมใช้ต่าง ๆ และในตอนท้ายของการเสวนาวิทยากรยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะบทบาทของสื่อที่จะช่วยเผยแพร่และสร้างความคุ้นเคยในการนำ NTA ไปใช้ในเชิงนโยบายเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรไทยต่อไป

ทั้งนี้ สามารถ download รายงานบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ ปี 2564 (National Transfer Accounts 2021: NTA 2021) ฉบับสมบูรณ์ ได้ที่เว็บไซต์ สศช. 
https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=social_nta


ข่าว : กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม
ภาพ : เมฐติญา  วงษ์ภักดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์