ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. จัดเวทีระดมความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มเพื่อปรับปรุงดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย
วันที่ 12 ธ.ค. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม  81)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีระดมความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) เพื่อปรับปรุงดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยให้เหมาะสมสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการวัดผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่มีต่อคนในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13  

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นางนภัสชล ทองสมจิตร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) เรื่อง "การปรับปรุงดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย” ที่โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยหน่วยงานภาคราชการ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง จำนวนประมาณ 30 คน

สศช. ได้ริเริ่มการประเมินผลกระทบ (Impact) ต่อคนไทยที่เกิดจากการพัฒนาประเทศในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับต่าง ๆ ครั้งแรกในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544) และมีการปรับปรุงดัชนีที่ใช้สำหรับประเมินความอยู่เย็นเป็นสุขของคนไทยในช่วงเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละแผนฯ เพื่อให้เหมาะสมกับวิสัยทัศน์ เป้าประสงค์ และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงแผนพัฒนาฯ

สำหรับการประชุมระดมความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยให้เหมาะสมสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการวัดผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่มีต่อคนไทยในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งจัดขึ้น 7 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นี้ เป็นการระดมความคิดเห็นในเรื่องการกำหนดกรอบแนวคิด องค์ประกอบหลัก พร้อมทั้งนิยามของแต่ละองค์ประกอบหลัก ซึ่งผลจากการประชุมทำให้สามารถกำหนดองค์ประกอบหลักของความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยได้ทั้งหมด 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) สุขภาวะ 2) เศรษฐกิจที่เป็นธรรม 3) สังคมที่เป็นธรรมและปลอดภัย 4) สภาพแวดล้อมที่มีคุณภาพและยั่งยืน 5) ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และ 6) ธรรมาภิบาล สำหรับการประชุมระดมความเห็นเฉพาะกลุ่มที่จัดขึ้นอีก 6 ครั้ง เป็นการระดมความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มเพื่อกำหนดนิยามและองค์ประกอบย่อยภายใต้แต่ละองค์ประกอบหลัก 6 องค์ประกอบ ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 7 8 และ 12 ธันวาคม 2566 โดยในแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยหน่วยงานภาคราชการ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง จำนวนประมาณ 30 คน

หลังจากที่ได้ข้อสรุปเรื่ององค์ประกอบหลักและองค์ประกอบย่อย พร้อมทั้งนิยามของแต่ละองค์ประกอบแล้ว การดำเนินการในระยะต่อไปจะเป็นการกำหนดตัวชี้วัดสำหรับแต่ละองค์ประกอบ แหล่งข้อมูลตัวชี้วัด เกณฑ์มาตรฐาน วิธีการคำนวณค่าคะแนนตัวชี้วัด ตลอดจนวิธีการคำนวณดัชนีรวม (Composite Index) และการกำหนดค่าถ่วงน้ำหนัก ซึ่งจะมีการประชุมระดมความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มในเรื่องเหล่านี้อีกช่วงหนึ่ง เพื่อให้ได้ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยชุดใหม่ที่ใช้ในการประเมินผลกระทบของการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้อย่างมีประสิทธิผล หลังจากนั้น จะเป็นการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิเพื่อทำการประเมินตามดัชนีชุดใหม่ที่ได้ปรับปรุงแล้ว และนำผลจากการประเมินไปจัดทำรายงานสถานการณ์ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยในแต่ละปีในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ต่อไป

ภาพ/ข่าว : กองขับเคลื่อนและประเมินผลการพัฒนา

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์