ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
เลขาธิการ สศช. ปาฐกถาพิเศษ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่” ในงาน “SSO INNOVATIVE AND DATA DRIVEN 33 ปี ก้าวสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม”
วันที่ 31 ต.ค. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม  98)
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ณ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการจัดงานประชุมวิชาการประกันสังคม 2023 "SSO INNOVATIVE AND DATA DRIVEN 33 ปี ก้าวสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม” พร้อมมอบนโยบายการขับเคลื่อนกระทรวงแรงงานเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยมี      นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่” ภายหลังพิธีเปิดการจัดงานประชุมดังกล่าว

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจความสำคัญของประกันสังคม และสร้างบรรยากาศให้แก่บุคลากรในองค์กรได้มีมุมมองด้านวิชาการมากขึ้น ตลอดจนเพื่อระดมความคิดเห็นในการพัฒนางานประกันสังคมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ด้านการใช้ข้อมูลตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการของสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 450 คน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษความว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มีทิศทางการพัฒนาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน เป็นลักษณะของ Inclusive Growth ซึ่งมีมิติด้านพัฒนาเชิงพื้นที่อยู่ในแผนฯ 13 ด้วย โดยเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเชิงจังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษค่อนข้างมาก ซึ่งจะมีส่วนหลัก ๆ คือการพัฒนาพื้นที่เฉพาะ และการพัฒนาพื้นที่ที่เป็นลักษณะของกลุ่มจังหวัด โดยหน่วยงานระดับกระทรวงหรือหน่วยงานในพื้นที่ สามารถทำโครงการและรับการจัดสรรเพื่อที่จะไปพัฒนาในพื้นที่

สำหรับการผลักดันแผนฯ 13 มี 3 กลไกหลักในการขับเคลื่อน คือ หนึ่ง ระดับนโยบายซึ่งจะใช้คณะกรรมการต่าง ๆ ที่มีอยู่ และตั้งขึ้นใหม่เพื่อที่จะผลักดันการทำงานตามนโยบาย ตามทิศทางการพัฒนา สอง กลไกตามภารกิจคือกระทรวงต่าง ๆ ที่จะจัดทำแผนการพัฒนาขอรับการจัดสรรงบประมาณไปทำในส่วนที่สอดรับกับทิศทางการพัฒนาตามแผน และ สาม กลไกในระดับพื้นที่ซึ่งตรงนี้ตัวจังหวัด กลุ่มจังหวัด หน่วยงานในพื้นที่ ภาคเอกชน ภาควิชาการในพื้นที่จะมีบทบาทสำคัญในการที่จะดึงทิศทางการพัฒนาในระดับภาพใหญ่ลงไปสู่พื้นที่ ส่วนที่อยากจะเน้นคือระดับพื้นที่จะทำอย่างไร ซึ่งสภาพัฒน์ทำอยู่ คือพยายามสร้างเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ตำบล ดึงเอาตำบลมานำร่อง ดึงกระบวนการที่มีศักยภาพขึ้นมา แล้วมาดูว่าจะสร้างความร่วมมือกันทำงานระหว่างภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และภาควิชาการในพื้นที่กันอย่างไร เพื่อที่จะทำให้การพัฒนาในระดับตำบลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ชาวบ้านได้รับประโยชน์มากขึ้น โดยมีรูปแบบการขับเคลื่อนแผนฯ 13 ในระดับพื้นที่และตำบล คือ 1. การขับเคลื่อนรายหมุดหมาย โดยนำประเด็นการพัฒนาของแผนฯ 13 ไปขับเคลื่อนจริงในพื้นที่นำร่อง ด้วยการเรียนรู้ ออกแบบ ทดลองใช้เพื่อถอดบทเรียนและขยายผลโมเดลการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ และ สศช. ทำหน้าที่เชื่อมโยงภาคีเครือข่าย ให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ และ 2. การขับเคลื่อนผ่านองค์กรภาคีเครือข่าย โดยเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานที่มีการดำเนินงานในพื้นที่อยู่แล้ว

ขณะนี้ สศช. กำลังคัดเลือกพื้นที่โดยมีหมุดหมายที่เริ่มดำเนินการขับเคลื่อนในปี 2566 อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและยกระดับการรวมกลุ่มอาชีพสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม การส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร การพัฒนาระบบแสดงผลข้อมูล (Dashboard) การแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยในระดับพื้นที่ การส่งเสริมการเกษตรและประกอบอาชีพที่สร้างรายได้ช่วยรักษาระบบนิเวศ และลดปัญหาการลักลอบเผาป่า การพัฒนากระบวนการเชื่อมโยงแผนพัฒนาในแต่ละระดับเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน โดยบางพื้นที่จะมีความร่วมมือกับทางองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ ADB ที่จะช่วยดูเรื่องการท่องเที่ยวที่ที่เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น เป็นต้น

ในส่วนการพัฒนาเชิงพื้นที่ในระยะต่อไป ประกอบด้วย เร่งรัดให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาคเพิ่มขึ้น โดยเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ โดยเน้นเชื่อมโยงภายในพื้นที่ระเบียงฯ และเชื่อมโยงกับพื้นที่ต่อเนื่อง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนจุดเน้นของแต่ละระเบียงฯ พัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริการ โดยศึกษาประเภทสินค้าและบริการที่มีศักยภาพจากคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อพัฒนาเชื่อมโยงต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำในระเบียงฯ และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง พัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานและศักยภาพผู้ประกอบการ โดยร่วมพัฒนาความรู้และทักษะแรงงานตามความต้องการของกิจการที่มุ่งเน้นในระเบียงฯ สนับสนุนสถานศึกษาในพื้นที่ดำเนินงานร่วมกับผู้ประกอบการ เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยต่อยอดงานวิจัยให้ใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ เพิ่มศักยภาพสถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัย และอุทยานวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ให้มีบทบาทนำและเชื่อมโยงภาคีการพัฒนาในการวิจัยและพัฒนา สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี/นวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงเกษตรกร

ทั้งนี้ การพัฒนาเชิงพื้นที่ในอนาคตต้องเน้นในเรื่องของการกระจายอำนาจในการจัดการไปที่องค์กรท้องถิ่นเพื่อให้เขาสามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ และการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ต้องมีการสอดประสานการทำให้เป็นในทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือต้องการที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ด้วยการบูรณาการการทำงานเข้าด้วยกัน เพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ และมุ่งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค

สามารถรับชมเลขาธิการ สศช. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่" ได้ที่ด้านล่างนี้


ข่าว : จักรพงศ์ สวภาพมงคล
ภาพ : จักรพงศ์ สวภาพมงคล

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์