ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
การประชุมหารือกับสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน เพื่อพัฒนา ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและ การขับเคลื่อน SDG LAB
วันที่ 26 ต.ค. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม  120)
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สายงานสังคม ให้การต้อนรับ ดร.ศักดิ์พงศ์ หอมหวล อธิการบดี พร้อมทั้งคณาจารย์จากสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (มหาวิทยาลัยชีวิต) เพื่อหารือแนวทางการทำงานร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดชีวิตในระดับพื้นที่ และการขับเคลื่อน SDG LAB จังหวัดสมุทรสงครามและพื้นที่ขยายผล ณ ห้องประชุมสุนทร หงส์ลดารมภ์ สศช. 

ในการประชุมหารือครั้งนี้ สืบเนื่องจากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสานเครือข่ายขับเคลื่อน SDG LAB และส่งเสริมความร่วมมือในการเรียนรู้ตลอดชีวิตในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ รศช.วรวรรณฯ ได้แสดงความยินดีในวาระที่ ดร.ศักดิ์พงศ์  หอมหวล ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับทิศทางและยุทธศาสตร์ของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งมุ่งมั่นที่จะเป็นต้นแบบการจัดการศึกษาที่ผูกพันกับชุมชนท้องถิ่น โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญ คือ การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐาน ปัจจุบันอยู่ในห้วงเวลาการปรับปรุงหลักสูตรสถาบันอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ เป้าหมาย ทิศทาง และประเด็นสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ อธิการบดีและคณะได้เสนอให้สภาพัฒน์ฯ ร่วมปรับปรุงหลักสูตร เพื่อบรรจุสาระการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประชากรไว้ในหลักสูตรด้วย ดังนั้น ความร่วมมือและความเชี่ยวชาญของสภาพัฒน์ฯ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปรับปรุงหลักสูตรของมหาวิทยาลัยชีวิตให้สามารถขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาประเทศที่สำคัญ

อนึ่ง ในการขับเคลื่อนประเด็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามนั้น ปัจจุบันสถาบันฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรม โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ภายใต้การดำเนินงานใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ความสามารถในการเรียนรู้ของประชาชนในพื้นที่ (2) วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจและต้นทุนในการเรียนรู้ และ (3) ความจำเพาะเจาะจงของนิเวศการเรียนรู้ในระดับพื้นที่ ซึ่งสถาบันฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาตัวแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับ 3 ประเด็นดังกล่าว 

ในการนี้ รศช.วรวรรณฯ ได้กล่าวถึงแนวทางความร่วมมือขับเคลื่อนโมเดลการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่คำนึงถึงบทบาทของผู้เล่นในระดับต่าง ๆ อีกทั้ง เห็นควรประสานพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้การเชื่อมร้อยประเด็นการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งอาจดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายในรูปแบบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในอนาคต โดยดำเนินการโมเดลนำร่อง ร่วมกับสถาบันฯ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สังเคราะห์ข้อมูลกฎหมาย ระเบียบและแนวปฏิบัติที่จะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ในระดับพื้นที่ การค้นคว้าวิจัยประเด็นของการลดความยากจน เหลื่อมล้ำ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน รวมทั้งจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ครอบคลุมทุกช่วงวัยและทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้สูงอายุ 

นอกจากนี้ ในมิติการขับเคลื่อน SDG LAB ในระดับพื้นที่ เห็นควรขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ บริเวณกลุ่มจังหวัดลุ่มแม่น้ำแม่กลอง อาทิ จังหวัดราชบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี โดยสภาพัฒน์ฯ จะร่วมหนุนเสริมการขับเคลื่อนใน 5 ประเด็น ได้แก่ (1) การสร้างนิเวศการเรียนรู้ท้องถิ่น (2) การสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศเกษตร (3) การส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิวัฒนธรรม (4) การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุโดยชุมชน และ (5) การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสวัสดิการชุมชน โดยสภาพัฒน์ฯ จะลงพื้นที่สังเกตการณ์ร่วมกับสถาบันฯ เพื่อจัดลำดับความสำคัญของทั้ง 5 ประเด็น กำหนดเป็นประเด็นนำร่องและขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่าย ต่อไป
 -------------------------
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
26 ตุลาคม 2566

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์