ข่าวสาร/กิจกรรม
|
การประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566
วันที่ 5 ต.ค. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม 410)
|
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ และบูรณาการการดำเนินงานของส่วนราชการและภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพ โดย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการฯ พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สศช. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นผู้แทนภาครัฐและผู้แทนภาคเอกชนเข้าร่วม ในการนี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการฯ นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมนโยบายสาธารณะ และนางสาวศศิธร พลัตถเดช ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ สศช. ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมประชุม ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า ในการวางแนวทางการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยให้มีศักยภาพ ดำเนินไปสู่เป้าหมายตามนโยบาย OFOS และ THACCA ของรัฐบาลนั้น จะต้องมีการดำเนินการ 3 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 การพัฒนาคนผ่านกระบวนการส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ โดยเฟ้นหาผู้ที่มีความฝันและอยากทำความฝันนั้นให้เป็นจริง ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ จำนวน 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครัวเรือน โดยให้แจ้งลงทะเบียนกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อบ่มเพาะผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ ทั้งด้านทำอาหาร ฝึกมวยไทย วาดภาพศิลปะ ฝึกการแสดง ร้องเพลง ออกแบบ แฟชั่น ฝึกแข่ง e-sport และอื่น ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ขั้นที่ 2 การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่าง ๆ ภายในประเทศ 11 สาขา ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบและแฟชั่น โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กร THACCA ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการปรับแก้กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พร้อมสนับสนุนเงินทุนวิจัยและพัฒนา สร้างแรงจูงใจด้านภาษี ให้เสรีภาพแก่ความคิดสร้างสรรค์ให้ทุกคนสามารถแสดงผลงานได้อย่างไร้ขีดจำกัด รวมทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือ TCDC ในทุกจังหวัด เพิ่มพื้นที่สำหรับ Co-Working Space ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ และต่อยอด Soft Power อย่างมั่นคงตั้งแต่ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับประเทศ
ขั้นที่ 3 การนำอุตสาหกรรมชอฟต์พาวเวอร์รุกสู่เวทีโลก ผ่านการเดินหน้าผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม โดยให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมมือกับภาคเอกชนนำซอฟต์พาวเวอร์ไทยเผยแพร่สู่ตลาดโลก ผ่านยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนด้วยการวิจัยข้อมูลเชิงพฤติกรรม กลยุทธ์การสื่อสาร และการร่วมจัดกิจกรรมในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งสามารถทำได้ทั้งที่เป็นกิจกรรมระดับโลกที่จัดภายในประเทศ และการนำซอฟต์พาวเวอร์ที่มีศักยภาพสูงของไทยเข้าร่วมกิจกรรมระดับโลกในต่างประเทศ
ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน (กพข.)
ภาพ : จักรพงศ์ สวภาพมงคล
|