ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์ ร่วมกับ สศอ. จัดการประชุมการรายงานผลการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย
(จำนวนผู้เข้าชม  60)
นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิด "การประชุมการรายงานผลการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน (กพข.) เจ้าหน้าที่กองงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (กรว.) และเจ้าหน้าที่กองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม (กมส.) โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจาก 18 หน่วยงาน เช่น  สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมการขนส่งทางบก เข้าร่วมการประชุมจำนวน 50 คน ณ ห้องประชุม 521 อาคาร 5 ชั้น 2 สศช. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566

การประชุมได้มีการรายงานผลการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย จากการประมวลผลข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาจัดทำห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สถานการณ์พัฒนาในภาพรวม โดยที่ประชุมได้พิจารณาผลสำรวจความคิดเห็น แผนที่กลยุทธ์แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 3 และแผนภาพห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งข้อเสนอแนะและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยระยะต่อไป

สาระสำคัญจากการทบทวนห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยพบว่าในระยะที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้เกิดการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล (Private EV) โดยมีผู้เล่นหลักในการขับเคลื่อนคือผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยเพื่อผลิต/จำหน่าย และผู้ประกอบการที่นำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในประเทศ ดังนั้น กรอบการพัฒนาอุตสาหกรรม EV ในระยะต่อไปจึงควรให้ความสำคัญกับการยกระดับผู้ประกอบการในประเทศ โดยการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ (Public EV) และยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะยกระดับศักยภาพและต่อยอดในการสร้างเทคโนโลยีหรือสร้างแบรนด์สินค้าที่เป็นของคนไทยได้ ซึ่งปัจจุบัน สวทช. ได้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี/นวัตกรรมในกลุ่มยานยนต์สาธารณะ เช่น รถโดยสารไฟฟ้า เรือไฟฟ้า จักรยานยนต์ รถสามล้อ เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังควรให้ความสำคัญกับปัจจัยสนับสนุนที่จะมีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจใช้ EV มากขึ้น อาทิ สถานีประจุแบตเตอรี่ (Charging Station) ที่เพียงพอ และการบริการและซ่อมบำรุงที่เชื่อถือได้ การพัฒนาฝีมือแรงงาน
ทั้งในด้านการผลิต การซ่อมบำรุง การตรวจรับรอง การประจุไฟฟ้า ตลอดจนการกำจัดซาก และการจัดการกับ EV 
ที่ประสบอุบัติเหตุ รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับการกำจัดซาก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะให้การดำเนินการครบวงจร
ตลอดอายุการใช้งาน (End of Life Vehicle : ELV) โดยจะต้องมีการพัฒนาระบบจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว และการจัดการซากยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะนำทรัพยากรที่มีค่ากลับมาใช้ใหม่ เช่น การรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เป็นต้น รวมถึงจะทำให้ไทยมีวัตถุดิบ (ต้นน้ำ) 
ขึ้นในประเทศ 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นต่อ (ร่าง) กรอบการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระยะต่อไป 
ซึ่ง สศช. สศอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปใช้ในการขับเคลื่อนตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 3 
และใช้เป็นกรอบในการพิจารณาจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2570 แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริหารแห่งอนาคตต่อไป

ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน (กพข.)
ภาพ : กวินนา แสยงบาป



สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์