เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการ สศช. และนางสาวกัญญารักษ์ ศรีทองรุ่ง วุฒิอาสาธนาคารสมอง อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. ให้การต้อนรับ นางภากมล รัตตเสรี กรรมการและรองเหรัญญิกมูลนิธิชัยพัฒนา และนางเพชรพริ้ง สารสิน อดีตผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่นำคณะเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย และชีวประวัติและผลงานของพระยาสุริยานุวัตร ผู้เขียนหนังสือ "ทรัพยศาสตร์” ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย
คณะผู้เข้าเยี่ยมชมต่างประทับใจในความงดงามของตึกสุริยานุวัตร การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรฯ และความสามารถ กล้าหาญ และซื่อสัตย์สุจริตของพระยาสุริยานุวัตร ไม่ว่าท่านจะได้รับมอบหมายงานใด ท่านทำสำเร็จอย่างดีเยี่ยม อันมีส่วนสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง อาทิ
► พระยาสุริยานุวัตรรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2430-2448 นับเป็นเวลาที่ยาวนานถึง 18 ปี มีตำแหน่งและผลงานสำคัญหลายเรื่อง อาทิ แต่งตำราการทูตภาษาไทยเล่มแรก เป็นตรีทูตและอุปทูตประจำกรุงเบอร์ลิน เป็นอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และรัสเซีย โดยได้รับมอบหมายเป็นผู้แทนฝ่ายไทยเจรจาเพื่อทำอนุสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสสำเร็จ จนฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี
ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายให้ดูแลการศึกษาของพระราชโอรสที่ทรงศึกษาในยุโรป ตลอดจนทำโค้ดโทรเลขใช้ในการทูตครั้งแรก
► เมื่อปี 2445 ท่านได้เสนอแนวคิดในการจัดตั้งธนาคารชาติ ต่อมาเมื่อท่านเขียนหนังสือ "เศรษฐกิจ-การเมือง” ในปี 2477 ได้ยกร่างโครงการจัดตั้งธนาคารแห่งชาติ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในที่สุดได้มีการจัดตั้งธนาคารแห่งชาติขึ้นในปี 2485
►ปี 2448 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ สร้างทางรถไฟและปรับปรุงการไปรษณีย์โทรเลขให้เจริญก้าวหน้า และเป็นต้นคิดเสนอให้สร้างพระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5
► ปี 2449 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ปฏิรูปการจัดเก็บภาษีอากร โดยโอนกิจการฝิ่นมาเป็นของรัฐบาล ซึ่งช่วยให้เกิดผลดีในระยะยาว เนื่องจากช่วยขจัดการรั่วไหลรายได้ของรัฐบาล ทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น และได้พัฒนาระบบเงินตรา โดยเปลี่ยนระบบเงินจาก "ระบบมาตราเงิน” เป็น "ระบบมาตราทองคำ” และคิดทำสตางค์ขึ้นใช้แทนอัฐ เป็นต้น
► หลังลาออกจากราชการ พระยาสุริยานุวัตรใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเขียนหนังสือ "ทรัพยศาสตร์” รวม 3 เล่ม ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกและเป็นมรดกล้ำค่าของชาวไทยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของประเทศไทย ที่มีความคิดก้าวล้ำหน้าอย่างยิ่ง
ข่าว : ณัฐพร ก๊อใจ
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี |