ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. ลงพื้นที่ศึกษาวิเคราะห์สภาพความเป็นไปในพื้นที่ และประเด็นท้าทายของการดำเนินงาน “การพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน” ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ลงพื้นที่ศึกษาวิเคราะห์สภาพความเป็นไปในพื้นที่และประเด็นปัญหา โอกาสการพัฒนา และประเด็นท้าทายของการดำเนินงาน "การพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน” ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตามหมุดหมายที่ 2 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 - 2570) เพื่อนำมาประกอบในการกำหนดทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่และในระดับประเทศ

เมื่อวันที่ 3 - 6 กันยายน 2566 นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นายสุริยนต์ ธัญญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน และนางสาวศศิธร พลัตถเดช ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ สศช. ได้ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (สงขลา ยะลา นราธิวาส) เพื่อศึกษาประเด็นปัญหา โอกาสการพัฒนา และประเด็นท้าทายใน "การพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน” ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม โดยคณะ สศช. ได้เข้าพบปะหารือ รับฟังความคิดเห็น ประเด็นปัญหา และข้อเสนอการพัฒนาการท้องเที่ยวในพื้นที่ จากหน่วยงานหลายภาคส่วน โดยสามารถสรุปประเด็น ได้ดังนี้ 

1. การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน จังหวัดชายแดนใต้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพรองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อาทิ บ่อน้ำพุร้อนเบตง ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง วัดคูหาภิมุข หาดนราทัศน์ มัสยิดโบราณ 300 ปี ฯลฯ โดยหน่วยงานในพื้นที่ขอให้ภาครัฐกำหนดเกณฑ์เงื่อนไขในการสนับสนุนงบประมาณพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยควรกำหนดเกณฑ์การปรับปรุงและดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวในระยะยาว ให้เป็นไปตามมาตรฐานความสะอาด ความปลอดภัย และการบริการการท่องเที่ยว และต้องมีการวางแผนบริหารจัดการแก้ไขปัญหาพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สถานที่ท่องเที่ยวมีคุณภาพเป็นที่ประทับใจต่อนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมและใช้บริการ 

2. โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยว หน่วยงานในพื้นที่ได้เสนอให้มีการปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้มีความเสถียรเพียงพอต่อการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว การจัดหาแหล่งน้ำดิบและพื้นที่เก็บน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคเมื่อการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว ให้มีการเร่งรัดโครงการก่อสร้างถนน อุโมงค์ ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของพื้นที่ เพื่อให้รับรองต่อการคมนาคมที่ขยายตัวขึ้นจากการท่องเที่ยว 

3. การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวบริเวณด่านชายแดนไทย - มาเลเซีย หน่วยงานในพื้นที่หลายส่วนโดยเฉพาะภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ได้เสนอว่าควรปรับปรุงการบริหารจัดการบริเวณด่านผ่านแดนไทย - มาเลเซีย ให้มีศักยภาพรองรับต่อปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยควรมีการขยายพื้นที่ ปรับปรุงอาคาร พัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกการผ่านแดนของนักท่องเที่ยวและพาหนะให้มีความรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และเทศกาลต่าง ๆ ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก 

4. ศักยภาพการท่องเที่ยวพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้ยังคงมีเอกลักษณ์ด้านการดำรงชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีที่มีความโดดเด่นน่าสนใจ โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ทำให้พื้นที่ยังมีศักยภาพอีกหลายด้านในการพัฒนาการท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยว อาหาร และผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ได้เสนอว่าในการวางแผนเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว ควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการการปฏิบัติงาน โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และดำเนินการพัฒนาร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน

ภาพ/ข่าว : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์