สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองชายแดนเบตง จังหวัดยะลา สู่ ภายใต้เป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดนในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และโครงการภายใต้แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน แผนพัฒนาจังหวัดยะลา พ.ศ. 2564 - 2566 รวมทั้งโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก พ.ศ. 2564 – 2565
เมื่อวันที่ 6-9 กันยายน 2566 นายเอนก มีมงคล และนางธิดา พัทธธรรม รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนางวีนัส นาคสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สศช. ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการสำคัญ ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา รวม 4 โครงการ ประกอบด้วย
(1) โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจุดชมวิวทะเลหมอกอัยเอยร์เวง ภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน พ.ศ. 2564 วงเงิน 58.39 ล้านบาท ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากผู้มาเยี่ยมเยือนเบตง
(2) โครงการพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวบ่อน้ำร้อนเบตง ภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก พ.ศ. 2565 วงเงิน 6.44 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองเบตง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและมาเลเซียให้เข้ามาท่องเที่ยวในเมืองชายแดนเบตงเพิ่มขึ้น และสนับสนุนการอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
(3) โครงการซ่อมสร้างผิวทางแอสฟัลติกส์คอนกรีตถนนในชนบทเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและรองรับการฟื้นตัวและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ เส้นทาง ยล 5020 บ้านเบตง – ธารน้ำทิพย์ วงเงิน 7.64 ล้านบาท และสายทาง ยล. 5039 เลี่ยงเมืองเบตง วงเงิน 15.00 ล้านบาท เป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและการขนส่งสินค้าไปยังด่านพรมแดนเบตง และ
(4) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแหล่งท่องเที่ยวทะเลสาบฮาลาบาลา กิจกรรม ก่อสร้างท่าเรือแบบทุ่นลอยน้ำพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณท่าเทียบเรือ ภายใต้แผนปฏิบัติราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 24.20 ล้านบาท ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปแล้วร้อยละ 13 คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้งานได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2566
ทั้งนี้ ได้ให้ข้อเสนอแนะในการเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผน เนื่องจากการติดตั้งทุ่นในเขื่อนบางลางจำเป็นต้องอาศัยปริมาณน้ำในเขื่อนที่เหมาะสม และผลที่คาดว่าจะได้รับเมื่อโครงการแล้วเสร็จ สามารถอำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว และจะเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียซึ่งนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันหยุดและฤดูผลไม้ เพื่อเข้ามาเที่ยวชมธรรมชาติที่สวยงามและรับประทานอาหารและผลไม้ ทำให้ประชาชนในเมืองชายแดนเบตงเกิดรายได้ รวมทั้งเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ได้เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจยะลาไบโอดีเซล มูลนิธิภูมิพลังปันน้ำใจไบโอดีเซล ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส จำนวน 240 ครอบครัว โดยใช้หลัก BCG Model ตามนโยบายรัฐบาล ในการรับซื้อน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วนำมาผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ใช้ในชุมชนเพื่อลดต้นทุนและเกิดการสร้างงาน เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนฐานราก ซึ่งในการดำเนินงานดังกล่าวจำเป็นต้องมีการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วน โดยมีสำนักงานพลังงานจังหวัดยะลา ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุนการดำเนินงานให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และจำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างเครือข่ายในการจัดหาวัตถุดิบเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืน
-------------------------
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
9 กันยายน 2566 |