ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
การติดตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ ครั้งที่ 5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดสกลนครและนครพนม
วันที่ 7 ก.ย. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม  66)
เมื่อวันที่ 4 – 5 กันยายน 2566 ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานอนุกรรมการติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก พร้อมด้วยนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายวันชัย สุทธะนันท์ นายสมสุข ศรีสถิตย์วัฒนา นางวัชรี สงวนศักดิ์โยธิน นายเอนก มีมงคล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน นางวีนัส นาคสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ นายมนตรี ดีมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นางสาวจินนา ตันศราวิพุธ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคกลาง นางสาวจันทวรรณ วรรธนะพงษ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาภาค และเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาภาค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลงพื้นที่จังหวัดสกลนครและนครพนม พร้อมด้วย นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และนายชานน วาสิกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เพื่อประชุมหารือและรับฟังผลการดำเนินงานโครงการสำคัญของจังหวัดในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากรวม 2 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วยสมุนไพรตามแบบนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ และ (2) โครงการส่งเสริมการผลิตโคเนื้อปลอดภัยและได้มาตรฐาน GAP กิจกรรมต้นทาง (UPSTREAM) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ รวมทั้งตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย จากการลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมการฯ ได้มอบนโยบายในการดำเนินโครงการ ดังนี้

1. โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วยสมุนไพรตามแบบนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เป็นหน่วยดำเนินการ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตสมุนไพรด้วยนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ และการแปรรูปสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยคณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นและมีข้อสังเกตดังนี้ โครงการดังกล่าวสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งควรมีการขยายผลการผลิตไปสู่การปลูกพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งควรนำผลงานวิจัยมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต โดยการบูรณาการร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่  

2. โครงการส่งเสริมการผลิตโคเนื้อปลอดภัยและได้มาตรฐาน GAP กิจกรรมต้นทาง (UPSTREAM) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ จังหวัดนครพนม โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครพนม เป็นหน่วยดำเนินการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตโคเนื้อที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานปลอดภัย เป็นการเพิ่มรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนของชุมชน โดยคณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นและมีข้อสังเกตดังนี้ โครงการดังกล่าวสามารถยกระดับรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร และลดต้นทุนการผลิตโคเนื้อ ซึ่งควรยกระดับการผลิตโคเนื้อให้ได้มาตรฐานปลอดภัยและ ควรนำหลัก BCG model มาใช้ตลอดทั้งห่วงโซ่การพัฒนา เพื่อให้โครงการเกิดความยั่งยืน และสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจฐานราก

สำหรับการตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ควรให้ความสำคัญกับการออกแบบลวดลายให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการสร้างคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์ด้านการตลาด รวมทั้งให้มีการสร้างแบรนด์และการจดทะเบียนตราสินค้า

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์