ข่าวสาร/กิจกรรม
|
สภาพัฒน์จัดศึกษาดูงานท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
วันที่ 6 ก.ย. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม 424)
|
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาภาค พื้นที่ และเมือง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมประมาณ 100 คน ได้ศึกษาดูงานท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยได้รับเกียรติจาก นายเทียนชัย มักเที่ยงตรง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานสนับสนุน ให้การต้อนรับ นายศัลย์ อุคพัชญ์สกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองแผนงาน ท่าเรือแหลมฉบัง และนางสาวอัญชลี วัลลา นักประชาสัมพันธ์ 8 เป็นผู้บรรยายสรุปกิจการโครงการพัฒนาต่าง ๆ ตลอดจนนำคณะเยี่ยมชมการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3
การศึกษาดูงานท่าเรือแหลมฉบังครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความพร้อมและศักยภาพของจังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งการพัฒนาเมือง เพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะต่อไป สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดย กทท. ทำหน้าที่เป็นองค์กรบริหารท่าเรือโดยรวม และให้เอกชนที่เช่าประกอบการ หรือ Landlord Port เปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ในปัจจุบันเปิดดำเนินการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 มีพื้นที่รวม 8,752 ไร่ โดยมีท่าเรือเปิดให้บริการรวม 19 ท่าเรือ จำแนกเป็น 5 ประเภท ประกอบด้วย (1) ท่าเทียบเรือตู้สินค้า 11 ท่า (2) ท่าเทียบเรือขนส่งรถยนต์ (Ro/Ro) 3 ท่า (3) ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ 3 ท่า (4) ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไป 1 ท่า และ (5) อู่ต่อและซ่อมเรือ 1 ท่า รองรับการขนส่งตู้สินค้ารวมประมาณ 11 ล้าน TEUs/ปี และรองรับรถยนต์ประมาณ 2 ล้านคันต่อปี
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาในระยะที่ 3 เป็นการดำเนินการโดยการให้เอกชนร่วมลงทุน วงเงินลงทุน รวม 114,047 ล้านบาท บนพื้นที่ขนาด 2,846 ไร่ เน้นการอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการท่าเรือด้วยระบบ e-Port ผ่านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ และการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม โดยเน้นการขนส่งระบบราง เพื่อเอื้อต่อธุรกิจโลจิสติกส์ประเทศให้ได้มาตรฐานในระดับสากล และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานและการบริหารจัดการ โดยเน้นให้มีความสามารถรองรับการขนถ่ายด้วยเครื่องมือขนสินค้าประเภทตู้สินค้าที่ทันสมัยและใช้ระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทตู้ผ่านท่าเรือแหลมฉบังทั้ง 3 ระยะ จาก 11 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี และรองรับรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี และเพิ่มความสามารถในการรองรับสินค้าตู้ทางรถไฟให้สูงขึ้นจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 ของสินค้าตู้ที่ผ่านท่าเรือแหลมฉบังทั้งหมด
ทั้งนี้ จากการศึกษาดูงาน พบว่า การดำเนินการของท่าเรือแหลมฉบังยังมีประเด็นท้าทาย อาทิ (1) การยกระดับมาตรฐานการให้บริการเทียบเท่าระดับสากล (2) การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหารจัดการท่าเรือ (3) การบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator: SRTO) (4) สรรหาบุคลากรและพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีขีดความสามารถเท่าทันเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการท่าเรือแหลมฉบังได้อย่างมีประสิทธิภาพ (5) การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่การเป็นท่าเรือสีเขียว (6) ควรพิจารณาบรรจุเรื่องการส่งเสริมใช้พลังงานสะอาดไว้ในสัญญาที่จะทำกับภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในบริเวณพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังระยะต่อไป และที่สำคัญคือ (7) การมีส่วนร่วมและการยอมรับจากชุมชนในพื้นที่และบริเวณโดยรอบ เพื่อความยั่งยืนของการพัฒนาในอนาคต
-------------------------
กองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองและกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
28 สิงหาคม 2566
|