ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. จัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษา ห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิตและบริการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่โดยรอบ
วันที่ 1 ก.ย. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม  64)
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 นายเอนก มีมงคล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิด "การสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิตและบริการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่โดยรอบ” ซึ่งจัดโดย สศช. (กองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ปรึกษาโครงการ พร้อมด้วยนายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงานเข้าร่วมการสัมมนา ณ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ การสัมมนาช่วงแรกเป็นการสรุปผลการศึกษาฯ โดย ดร.กิตติ ลิ่มสกุล หัวหน้าโครงการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.สุเทพ นิ่มสาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยมหิดล และช่วงที่สองได้รับเกียรติจากวิทยากรทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ได้แก่ (1) นางนิอร สุขุม ผู้อำนวยการกองนโยบายอุตสาหกรรมภาค สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (2) นายวีรพัฒน์ ชินพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาบริการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว (3) ดร.ปิยะนุช สัมฤทธิ์ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย และ (4) รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศและนักวิชาการอิสระ ร่วมเสวนาในหัวข้อ "ห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิตและบริการ : โอกาสและความท้าทายของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน” ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและพื้นที่เขตฯ ชายแดน กองและสำนักต่างๆ ใน สศช. และผู้เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ผ่าน Facebook สภาพัฒน์ รวมจำนวนประมาณ 190 คน 

การศึกษาห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิตและบริการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่โดยรอบ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเชิงลึกเพื่อเพิ่มมูลค่าและยกระดับการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและบริการที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาในเขตฯ ตาก สงขลา สระแก้ว หนองคาย เชียงราย และกาญจนบุรี รวมทั้งเสนอแผนปฏิบัติการและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ระยะเวลาดำเนินการศึกษาฯ 12 เดือน (กันยายน 2565 ถึง กันยายน 2566) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ โดยการศึกษา ได้คัดเลือกสินค้าและบริการที่มีศักยภาพของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่โดยรอบ อาทิ การบริการด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและวัฒนธรรม การผลิตสิ่งทอ การผลิตสินค้าเกษตร เช่น ชา กาแฟ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา สมุนไพร โคเนื้อ เป็นต้น 

ในการสัมมนาได้มีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การยกระดับการผลิตและบริการในพื้นที่ตามแนวทาง Bio-Circular-Green Economy (BCG) และ Environment-Social-Governance (ESG) (2) การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและบริการในเขตฯ ชายแดนกับพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ อาทิ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และการบริหารจัดการแรงงาน รวมทั้งการติดตามสถานการณ์การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด (3) การพัฒนาเทคโนโลยีในพื้นที่ให้สูงขึ้นเพื่อให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (4) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและครบวงจร รวมทั้งการวางกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงหลังช่วงโควิด-19 (5) กลไกบูรณาการร่วมภาครัฐ-เอกชนเพื่อวางแผนและขับเคลื่อนการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าในเขตฯ ชายแดนตลอดต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ (6) สนับสนุนให้ SMEs เป็นกลุ่มผู้ประกอบการสำคัญในเขตฯ ชายแดน และ (7) การปรับตัวของเขตฯ ชายแดนในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทอย่างมากและส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานสั้นลง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานได้มากขึ้น ทั้งนี้ การสัมมนาครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในระยะต่อไปให้สนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของการลงทุน เพื่อเพิ่มการสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน 

กองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สศช.

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์