ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์ ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาไท จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนภาคตะวันออกยั่งยืน มุ่งสร้างสังคมเสมอภาคและเท่าเทียม
วันที่ 9 ส.ค. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม  109)
เมื่อวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคความเท่าเทียมทางสังคม สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "จัดทำแนวทางการขับเคลื่อนภาคตะวันออกยั่งยืน มุ่งสร้างสังคมเสมอภาคและเท่าเทียม” ณ ทวาราวดี รีสอร์ท อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ.ศ. 2566-2570 รวมทั้งถอดรหัสองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อน SDG LAB ภาคตะวันออก ที่ทำให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างพลังความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ โดยมีนางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุม และสำนักงานฯ ได้รับเกียรติจากนางพัชรี ศาลาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ร่วมกล่าวต้อนรับ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีการแสดงรำย้อนยุคเพื่อสุขภาพ โดยสมาชิกกลุ่มผู้สูงอายุ เครือข่ายสุขภาวะ จังหวัดปราจีนบุรี และมีการจัดนิทรรศการ "เปิดเส้นทางความยั่งยืน วิถีตะวันออก วิถีแห่งความสุข” โดยวุฒิอาสาฯ และเครือข่ายการพัฒนา 8 จังหวัดภาคตะวันออก เป็นผู้นำเสนอ 

กิจกรรมวันแรก 

ช่วงเช้ามีการบรรยาย เรื่อง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคตะวันออก โดย นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน กล่าวถึง การจำแนกแผนในปัจจุบันที่มี 3 ระดับ ประกอบด้วย แผนระดับที่ 1 คือ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนระดับที่ 2 ได้แก่ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนระดับที่ 3 ซึ่งมีแผนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในระดับพื้นที่ ได้แก่ เป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 5 ปี รวมทั้งแผนปฏิบัติราชการประจำปีของแต่ละจังหวัด ซึ่งเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคตะวันออก พ.ศ. 2566-2570 มุ่งสู่การเป็น "ฐานเศรษฐกิจสีเขียวชั้นนำของอาเซียน ควบคู่กับคุณภาพการดำรงชีวิตของประชาชนที่ดี” โดยมีประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ (1) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัย ส่งเสริมการพัฒนาและการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (First S-curves และ New S-curves) ยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาเมืองที่ทันสมัย (2) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Economic Zone : SEZ) พัฒนาและยกระดับกิจกรรมเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (3) การพัฒนากำลังคนให้สอดรับกับอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย โดยผลิตและพัฒนาศักยภาพแรงงานให้สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาคตะวันออกที่มีแนวโน้มใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับขีดความสามารถในการผลิตและดำเนินกิจการของผู้ประกอบการทั้งในสาขาการเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป ธุรกิจบริการและการค้า กลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนและชุมชนในพื้นที่

ต่อจากนั้น เป็นเวทีเสวนายกระดับการขับเคลื่อนการพัฒนา "คิด ปรับ สร้าง ... ภูมิทัศน์ใหม่ของการพัฒนาภาคตะวันออกสู่ความยั่งยืน” เพื่อสร้างความตระหนักรู้และรู้เท่าทันต่อบริบทความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDG LAB ภาคตะวันออก โดยมีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้

ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา นำเสนอการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางธรรมชาติอันมีผลมาจากสถานการณ์ภาวะโลกร้อน ซึ่งต้องปรับตัวรับมือต่อความผันผวนที่เกิดขึ้น มีเป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนพร้อมการสร้างสังคมที่เป็นธรรม โดยภาคตะวันออกยังคงมีระบบนิเวศทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และพลังทางสังคมที่เข้มแข็ง ทำให้สามารถเปลี่ยนผ่านและประสานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) 

นายสุทธิพจน์ เชื้ออภัยวงษ์ ประธานวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรรุ่นใหม่แปรรูปผลผลิตเกษตรชัยนาท Young Smart Farmer กล่าวถึงสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยและการเผชิญกับการแข่งขันของ Supply Chain จากต่างประเทศ ทำให้ต้องพัฒนารูปแบบการทำเกษตรกรรมเป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี Blockchain ในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านบริหารจัดการและการทำการเกษตร รวมทั้งต้องสร้างระบบเกษตรนิเวศที่ยั่งยืนในระดับชุมชนและสร้างทางเลือกในการบริหารจัดการด้านอาหารให้แก่เกษตรกร 

ดร.ประครอง สายจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) นำเสนอสถานการณ์การท่องเที่ยววิถีใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบร่วมมือหลายภาคส่วนและมุ่งสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งมีการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยว Low Carbon และเชื่อมโยงให้สอดรับกับมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) 

นางสาวปารีณา ประยุกต์วงศ์ กรรมการและเลขาสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ชี้ให้เห็นผลกระทบเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการสร้างเมืองที่น่าอยู่ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนบนความไว้วางใจ (Trust) ปัจจัยสำคัญ คือ การสร้างพลเมืองตื่นรู้ (Active citizen) ภาคประชาชนทำงานร่วมกันกับเครือข่ายพลเมืองอาสาเพื่อสังคม และหน่วยงานขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ที่ยั่งยืน โดยมีกองทุนภาคประชาสังคมระดับจังหวัดกลไกการทำงาน 

นางมนทกานติ์ สุวรรณทรรภ กิตติไพศาลศิลป์ เจ้าหน้าที่บริหารโครงการด้านวัฒนธรรม สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้เสนอแนวคิดการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรม ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาแบบใหม่ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง มีกลยุทธ์สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ มีการวางนโยบายแบบผสมผสานที่ยึดโยงกับรากฐานของวัฒนธรรมท้องถิ่นและชุมชน โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ส่งเสริมการทำธุรกิจเพื่อสังคมแบบใหม่ พัฒนาทักษะคนทำงาน และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ช่วงบ่ายเป็นเวทีระดมความเห็น ปัจจัยและแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (Driving Force) ของภาคตะวันออก โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา นายทวีวัฒน์ กำเนิดเพ็ชร์ กลุ่มเรียนรู้บางเพลย์ และนายกัญจน์ ทัตติยกุล กลุ่มมิตรรักบางปะกง เป็นวิทยากรกระบวนการร่วมกับ สศช. สรุปผลการระดมความเห็น ซึ่งมีปัจจัยและแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของภาคตะวันออกได้ ดังนี้ 

1) การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ที่ส่งผลให้อัตราการพึ่งพิงแนวโน้มสูงขึ้น ประชากรวัยแรงงานต้องรับภาระในการดูแลเด็กและผู้สูงอายุมากขึ้น รวมทั้งการเร่งผลักดันการดำเนินโครงการ EEC ทำให้มีความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก นำไปสู่การเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ อาทิ น้ำ ปัญหาขยะ และการทำลายสิ่งแวดล้อมในภาคตะวันออก 

2) ต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปัจจัยการผลิตลดลง ขณะเดียวกันการลงทุนในภาคตะวันออกยังต้องพึ่งพาต่างประเทศในสัดส่วนสูง ทั้งเงินลงทุน เทคโนโลยี ตลาดสำหรับการส่งออก ส่งผลต่อแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคตะวันออก เพื่อให้เกิดการกระจายประโยชน์และยกระดับรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน เป็นการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

3) ขยะพิษ/ขยะพลาสติกจากนโยบายการพัฒนาภาคตะวันออก จากผลสำรวจและคาดการณ์จำนวนขยะในพื้นที่ EEC โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าขยะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 9.41 ล้านตันในปี 2560 เป็น 20.08 ล้านตันในปี 2580 หากยังไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม อีกทั้งภาคตะวันออกยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (Climate Change) ที่ส่งผลต่อการทำเกษตรและประมง 

4) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีวัสดุและนาโนเทคโนโลยี ทำให้ภาคตะวันออกมีโอกาสในการปรับกระบวนการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ขณะเดียวกันยังขาดการส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับคนในชุมชนเพื่อให้ใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์ 

5) การมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายและการขับเคลื่อนการพัฒนา รวมทั้งการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นที่มีความสมดุลระหว่างงาน-คน-เงิน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ได้ทันต่อสถานการณ์และตอบสนองความต้องการกับประชาชนอย่างแท้จริง 

6) บทบาทของทหารกับการพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออก อาทิ การจัดสรรใช้ประโยชน์ที่ดิน การร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด ช่วยรักษาความสงบ และส่งเสริมการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน  

กิจกรรมวันที่สอง 

การระดมสมองถอดรหัสการขับเคลื่อน SDG LAB กับการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคมในระดับพื้นที่ โดยมี ทีมยังธน เป็นทีมวิทยากรกระบวนการร่วมกับ สศช. ซึ่งได้แนวทางการพัฒนาการทำงาน 5 ประเด็น ดังนี้
 
1) การพัฒนาบนฐานทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างรากฐานที่สมดุลและยั่งยืน โดยขยายเครือข่ายการทำงานให้มีความหลากหลายทั้งความรู้ความเชี่ยวชาญและกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมทั้งพัฒนากระบวนการทำงานที่ทำให้เกิดหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรด้านกำลังคนและองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงการทำงานเชิงนิเวศ 

2) ก้าวสู่การเป็นเกษตรสมัยใหม่ นวัตกรรมการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน โดยสร้างเครือข่าย Super เกษตร เพื่อรวบรวมและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างเครือข่ายเกษตรกรแต่ละจังหวัดในภาคตะวันออก จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรม เทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้งสร้างพื้นที่ทดลองการทำเกษตรไปสู่การท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศเพื่อเพิ่มรายได้ 

3) การพัฒนาเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน จัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมของเมืองในภาคตะวันออก ได้แก่ ปัญหาขยะพิษ และช้างป่าบุกเมือง โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงทีและเป็นการสร้างระบบนิเวศเมืองที่ยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม 

4) การท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีใหม่ โดยเริ่มจากเชื่อมการทำงานระดับภาคผ่าน "กลุ่มทดลองเที่ยว” ที่ทำหน้าที่ประสานกิจกรรมการท่องเที่ยวและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างจังหวัด รวมทั้งการลงพื้นที่สำรวจทรัพยากรและแหล่งท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัด เพื่อสร้างโมเดลการท่องเที่ยวภาคตะวันออกยั่งยืน 

5) ยกระดับการเรียนรู้บนฐานชุมชน โดยพัฒนาวิธีการเก็บข้อมูลเพื่อสร้างโมเดลการทำงานในระดับจังหวัดและระดับภาค โดยคณะทำงานเชื่อมประสานกลไกการทำงานระดับจังหวัดและแนวร่วมเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ผ่านแพลตฟอร์มเครือข่ายศูนย์ข้อมูลสารสนเทศชุมชนภาคตะวันออก รวมทั้งจัดกระบวนการเรียนรู้ในระดับจังหวัดและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับภูมิภาค เพื่อถอดบทเรียนและขยายผลการทำงานของภาคตะวันออก

การจัดประชุมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเติมเต็มข้อมูล/องค์ความรู้ ถอดรหัสองค์ประกอบสำคัญของการขับเคลื่อน และพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อน SDG LAB ภาคตะวันออกสู่ความยั่งยืนแล้ว ยังเป็นเวทีแสดงพลังของวุฒิอาสาธนาคารสมองทั้ง 8 จังหวัดภาคตะวันออกในการเป็นกลไกที่เชื่อมโยงการทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยมี สศช. และ มพท. เป็นภาคีหนุนเสริมการขยายแนวร่วมการทำงานเชิงประเด็นที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์การพัฒนาภาคตะวันออกสู่ความยั่งยืนได้ต่อไป

ข่าว : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคความเท่าเทียมทางสังคม
ภาพ : เมฐติญา  วงศ์ภักดี / กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคความเท่าเทียมทางสังคม

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์