ข่าวสาร/กิจกรรม
|
Policy dialogue: การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ในประเทศไทย
วันที่ 26 ก.ค. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม 116)
|
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 นายวิชญ์พิพล ติวะตันสกุล รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รับมอบหมายให้เป็นวิทยากรร่วมเสวนาทางนโยบาย (Policy dialogue) เพื่อกำหนดแนวทางและสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE ecosystem) ในประเทศ โดยร่วมเสวนา หัวข้อ กลไกวิสาหกิจเพื่อสังคมในการลดความเหลื่อมทางสังคมประเทศไทย บทบาทในแผนพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ณ ห้องประชุมแมนดารินซี โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพ จัดโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยกล่าวถึง ความสอดคล้องของ SE กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ในการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาลและคำนึงถึงต้นทุนทางสังคม และการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ในการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งพาตนเอง และยกระดับเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ความสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเด็นที่ 10 การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม ในการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมที่พึงประสงค์จากภาคธุรกิจประเด็นที่ 15 พลังทางสังคม ในการเสริมสร้างทุนทางสังคม ประเด็นที่ 16 เศรษฐกิจฐานราก ในการยกระดับศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ และสร้างสภาพแวดล้อม กลไกที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประเด็นที่ 17 ความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม มาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม และสอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มิติสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค โดยเฉพาะหมุดหมายที่ 7 SMEs วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคม เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน
ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อน SE ให้เป็นกลไกการลดความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ อาทิ ควรเพิ่มจำนวน SE ที่มีนวัตกรรมหลากหลาย เพื่อหนุนเสริมการดำเนินงานของภาครัฐให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น การดูแลเด็กอ่อนในชุมชนแออัด การดูแลผู้พ้นโทษ แม่วัยใส เป็นต้น กำหนดแนวทางการสร้างแรงจูงใจ (Incentive programs) เชื่อมโยง SE กับการบริการภาครัฐควบคู่กับการประสานแหล่งเงินทุน สนับสนุน SE ที่มีรูปแบบในการระดมทุนแบบใหม่ ๆ (creative thinking) มีการจัดการฐานข้อมูล (Data Base) SE อย่างเป็นระบบ การพัฒนาศักยภาพ SE โดยสร้างความร่วมมือกับธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ในการสนับสนุนองค์ความรู้ เครื่องมือ และพัฒนาทักษะต่าง ๆ รวมถึง สร้างการรับรู้เกี่ยวกับ SE ในสังคม เพื่อสร้างการยอมรับและกระตุ้นให้เกิดการประกอบกิจการ SE เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ และที่สำคัญ SE ต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นกลไก ช่วยโลก และสังคมได้อย่างยั่งยืน
ข่าว: กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม (กสท.)
ภาพ: นางสาวโชโนรส มูลสภา (กสท.)
|