ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษาขั้นต้น ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนา ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม
วันที่ 21 ก.ค. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม  211)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัทไรส์ อิมแพค จำกัด นำเสนอผลการศึกษาขั้นต้น ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ และความเห็นต่อร่างระบบนิเวศฯ ในบริบทของประเทศไทย รวมทั้งรับฟังความเห็นต่อข้อเสนอแนะชุดนโยบายเพื่อพัฒนาระบบนิเวศฯ และการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับบูรณาการความร่วมมือและการแบ่งปันทรัพยากรระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่สังคมแห่งโอกาสและเป็นธรรม ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทฯ ที่เกี่ยวข้อง และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมนำเสนอผลการศึกษาขั้นต้น ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คน ประกอบด้วย วิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมวิพากษ์ผลการศึกษา คณะอนุกรรมการด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สศช. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมที่มีบทบาทขับเคลื่อนการสร้างสังคมที่เสมอภาคและเท่าเทียม

โดยรองเลขาธิการฯ กล่าวว่า นโยบายการลดความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมามีลักษณะแยกส่วนและมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่ระดับบุคคลเป็นหลัก ขาดมุมมองในเชิงระบบและโครงสร้าง ทำให้เกิดช่องว่างในการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง สภาพัฒน์จึงร่วมกับที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์หาองค์ประกอบของระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่จะเอื้อให้เกิดการสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมแบบองค์รวม ผ่านการทบทวนงานวิจัย นโยบาย/มาตรการ/แผนงาน/โครงการหลักของภาครัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมกับการลงพื้นที่ถอดบทเรียนกรณีตัวอย่าง การสัมภาษณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการจัดห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab) เพื่อวิเคราะห์และจำแนกให้เห็นบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในระบบนิเวศฯ โดยมุ่งเน้นแนวทางภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติใน 3 ประเด็น ได้แก่ พลังทางสังคม เศรษฐกิจฐานราก และความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาระบบนิเวศฯ อีกทั้งร่วมกับบริษัทไรส์ อิมแพค จำกัด พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลให้เป็นพื้นที่กลาง สำหรับบูรณาการความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ และให้เป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เกิดเป็นพลังทางสังคมที่สามารถขับเคลื่อน และเชื่อมโยงการพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในงานได้รับเกียรติจากนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "สังคมเสมอภาคจากรากฐานชุมชนเข้มแข็ง : การต่อยอดพลังทางสังคมสู่การสร้างหลักประกันและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก” โดยนายแพทย์อำพลได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า การสร้างสังคมเสมอภาคเริ่มต้นจากการกระจายโอกาสการพัฒนาให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ เปรียบเสมือนการสร้างรากฐานที่มั่นคงของสังคม เช่นเดียวกับรากของต้นไม้ที่มั่นคงแข็งแรง ช่วยให้ลำต้นเจริญเติบโตและต้านทานแรงลมได้ นอกจากนี้ นายแพทย์อำพลได้เน้นย้ำว่า "ตำบล คือ พื้นที่ยุทธศาสตร์ของการพัฒนา” โดยมีปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนคือ การจัดทำข้อมูลที่ตำบลและชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ และการส่งเสริมหุ้นส่วนแบบจตุพลัง ระหว่างท้องถิ่น ท้องที่ ส่วนราชการในพื้นที่ และองค์กรชุมชน นอกจากนี้ เพื่อให้มีระบบของการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีขนาดที่พอเหมาะ เป็นองค์กรสมรรถนะสูง มีสิทธิ อำนาจหน้าที่ และทรัพยากรที่เพียงพอ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างสูงระหว่างประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในตำบล

การนำเสนอผลการศึกษาช่วงเช้าโดยสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย "ภาพรวมของระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพงษ์ บุษบงก์ เสนอกรอบการวิเคราะห์ระบบนิเวศฯ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 4Ps ได้แก่ (1) นโยบายและการบริหารจัดการ (Policy and Governance) (2) ทุนในพื้นที่ในฐานะเงื่อนไขตั้งต้น (Pre-conditions or Assets) (3) พื้นที่ขับเคลื่อน (Platform or Driving Spaces) และ (4) ตัวแสดง/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Players or Drivers) ที่จำแนกบทบาทในระบบนิเวศ ประกอบด้วย ผู้กำหนดนโยบาย ผู้สนับสนุนทรัพยากรและความรู้ ผู้ขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ และผู้ประสานเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อเชื่อมโยงบทบาทดังกล่าวเข้ากับการขับเคลื่อนในองค์ประกอบห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทยภายใต้แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 3 ประเด็น คือ พลังทางสังคม เศรษฐกิจฐานราก และความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม ร่วมกับการทบทวนนโยบายในต่างประเทศ อาทิ สวีเดน สหราชอาณาจักร และสิงคโปร์ เพื่อประยุกต์เป็นข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบนิเวศฯ ในบริบทของประเทศไทยต่อไป ลำดับถัดมาเป็นการนำเสนอ "ระบบนิเวศของการเสริมสร้างพลังทางสังคม” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พบสุข ช่ำชอง ฉายภาพรูปแบบการเกิดพลังทางสังคมของประเทศไทย และเน้นย้ำว่า รูปแบบพลังทางสังคมที่อาศัยกลไกทั้งแนวดิ่งและแนวระนาบ (Convergent) เป็นรูปแบบที่พบได้น้อยแต่มีศักยภาพสูงที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม เนื่องจากผสมผสานทรัพยากรและการสนับสนุนจากภาครัฐร่วมกับภาคีเครือข่ายจากเอกชน ชุมชน และภาคประชาสังคม ตัวอย่างการขับเคลื่อนในรูปแบบนี้ อาทิ การพัฒนาเมืองขอนแก่น (ขอนแก่นโมเดล) และการขับเคลื่อนพลังทางสังคมในจังหวัดเชียงใหม่ (เชียงใหม่โมเดล) ซึ่งมีจุดเด่นคือ กฎระเบียบที่ยืดหยุ่น และการเปิดพื้นที่สร้างความร่วมมือและทดลองเชิงนโยบาย อาทิ สภาพลเมือง และ Chiang Mai City Lab ทำให้สามารถระดมทุนทางการเงิน องค์ความรู้ และทุนทางสังคมในพื้นที่ นอกจากนี้ ควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น "ผู้เชื่อมระบบนิเวศเชิงนโยบาย (Policy Ecosystemizer)” ประสานเชื่อมโยงการขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น ร่วมกับการกำหนดตัวชี้วัดร่วม (Joint KPIs) ของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีความเห็นว่า องค์การมหาชนและหน่วยวิจัยในสถานศึกษา มีโครงสร้างและศักยภาพที่เอื้อต่อการทำหน้าที่ดังกล่าว

หลังจากนั้นที่ประชุมเปิดให้ผู้ทรงคุณวุฒิร่วมวิพากษ์ผลการศึกษา ประกอบด้วย ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล จากมหาวิทยาลัยมหิดล และนายณัฐพล เทศขยัน จากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รวมทั้งคณะอนุกรรมการด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สศช. โดยมีความเห็นและข้อสังเกตที่สำคัญ อาทิ การสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและไม่ไว้วางใจ การจัดการความรู้และประสบการณ์ให้เป็นสัญลักษณ์และความภาคภูมิใจของกลุ่มเพื่อเชื่อมร้อยการทำงานระหว่างเครือข่าย การเพิ่มพื้นที่ต้นแบบการรวมตัวของผู้สูงอายุที่ยังมีศักยภาพ (Active Aging) การศึกษาโครงสร้างอำนาจในชุมชน การวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคในการบูรณาการฐานข้อมูลด้านสวัสดิการ และทบทวนแนวทางจัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้ามิให้เกิดปัญหาตกหล่นในกลุ่มเป้าหมาย 

ช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ดร.ศิญาณี หิรัญสาลี เรื่อง "ระบบนิเวศของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก” ซึ่งประยุกต์แนวคิดเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (Social Solidarity Economy) ของ OECD ที่ใช้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสร้างผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นกรอบการวิเคราะห์และจำแนกบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละขั้นตอนของการดำเนินเศรษฐกิจฐานราก พบว่า ในระบบนิเวศฯ ยังมีช่องว่างที่สำคัญ คือ องค์ความรู้ ทักษะของผู้ประกอบการ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริหารจัดการหนี้สินในช่วงขาลงของการดำเนินธุรกิจ นำมาสู่ข้อเสนอแนะ อาทิ การส่งเสริมความรู้ด้านการบริหารจัดการหนี้สินพร้อมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงิน การฟื้นฟูระบบสหกรณ์ให้เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน และการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เอื้อต่อผู้ประกอบการฐานราก ตามด้วยการนำเสนอ เรื่อง "ระบบนิเวศของการสร้างหลักประกันทางสังคม” โดยประยุกต์ใช้กรอบแนวคิดหลักประกันทางสังคม (Social Security) และความคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) เป็นกรอบการวิเคราะห์และจัดแบ่งบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบนิเวศฯ ร่วมกับการวิเคราะห์รูปแบบ/มาตรการการคุ้มครองทางสังคมที่มีอยู่ในแต่ละช่วงวัย และองค์ประกอบของห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทย โดยมีข้อเสนอแนะ อาทิ การกระจายอำนาจหน้าที่ให้ภาคประชาสังคมร่วมสร้างโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Nets) อย่างเป็นรูปธรรม การสร้างหลักประกันแบบสมทบ และการจัดการฐานข้อมูลที่จำเป็น

ลำดับถัดมา ผู้แทนจากบริษัทไรส์ อิมแพค จำกัด นำเสนอแพลตฟอร์มความร่วมมือเพื่อการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ภายใต้ชื่อ "Thailand Integrated Social Ecosystem Platform (TISEP)” โดยมี กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนการพัฒนา และหน่วยงานภาคีสนับสนุน คุณสมบัติเด่น (Feature) ของแพลตฟอร์ม TISEP คือ รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลทรัพยากร และข้อมูลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบนิเวศฯ โดยนำเสนอผ่านรูปแบบแผนที่ (Mapping) ให้สามารถค้นหาข้อมูลทรัพยากร โครงการ และองค์กรได้อย่างสะดวกและแม่นยำ ผ่านเมนูและตัวกรองข้อมูลในการค้นหา ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถติดต่อและแบ่งปันความช่วยเหลือกับผู้อื่นได้ ตลอดจนทราบถึงสถานการณ์การขับเคลื่อนงานในแต่ละพื้นที่

ภายหลังการนำเสนอในช่วงบ่าย ที่ประชุมเปิดให้ผู้ทรงคุณวุฒิร่วมวิพากษ์ผลการศึกษา ประกอบด้วย นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล จากบริษัท ป่าสาละ จำกัด และนางสาวนพเก้า สุจริตกุล จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ มีประเด็นอภิปรายและข้อสังเกตที่สำคัญ อาทิ การนำเครื่องมือ Regulatory Impact Assessment (RIA) ประเมินผลกระทบของโครงการที่มีต่อการสร้างความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ การทบทวนมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่สร้างผลกำไร อาทิ การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ ในส่วนของการพัฒนาแพลตฟอร์มฯ ควรเพิ่มเติมการแสดงผลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในระดับอำเภอหรือตำบล อาทิ สัดส่วนรายได้ระหว่างประชากร Top 10 และ Bottom 10 ในแต่ละพื้นที่ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและช่วยให้กำหนดเป้าหมาย/พื้นที่ดำเนินการได้อย่างตรงจุด รวมทั้งควรเพิ่มการแสดงผลบนหน้าจอขนาดต่าง ๆ (Responsive Web Design) เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งาน

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "พัฒนาชุดนโยบายการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเพื่อความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม” ซึ่งสภาพัฒน์ดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 ทั้งนี้ ประเด็นอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในที่ประชุมจะถูกนำไปปรับปรุงและพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม รวมทั้งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฯ และแพลตฟอร์ม TISEP ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

ข่าว : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม
ภาพ : จักรพงศ์  สวภาพมงคล

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์