ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
การติดตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ ครั้งที่ 3 ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน ณ จังหวัดชุมพร
วันที่ 17 ก.ค. 2566 (จำนวนผู้เข้าชม  82)
เมื่อวันที่ 13 - 14 กรกฎาคม 2566 ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานอนุกรรมการติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก พร้อมด้วย นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายวันชัย สุทธะนันท์ นายสมสุข ศรีสถิตย์วัฒนา นางวัชรี สงวนศักดิ์โยธิน นายเอนก มีมงคล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายสุริยนต์  ธัญกิจจานุกิจ และนายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน นางวีนัส นาคสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ นางสาวจินนา ตันศราวิพุธ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคกลาง นางสาวจันทวรรณ วรรธนะพงษ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาภาค และเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาภาค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร เพื่อประชุมหารือและรับฟังผลการดำเนินงานโครงการสำคัญระดับจังหวัดในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน ได้แก่ (1) โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 1,000 วัตต์ (สำหรับธนาคารปู) และ (2) โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวชุมพรสู่มาตรฐานสากล รวมทั้งตรวจเยี่ยมพื้นที่เพาะปลูกและการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานของทุเรียน

จากการลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมการฯ พบว่าจังหวัดชุมพรมีศักยภาพที่โดดเด่นในด้านการเกษตร โดยมีทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด และมีการท่องเที่ยวชุมชนที่เข้มแข็ง ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการเกษตรและการท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืน จังหวัดชุมพรและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึงปัญหาและเร่งพัฒนาในประเด็น ดังนี้ (1) เร่งรัดการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ให้เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Nino) (2) การกำหนดมาตรการควบคุมการรับซื้อผลผลิตทุเรียนของโรงรับซื้อทุเรียน อาทิ มาตรฐานของเกรดทุเรียน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกภาคส่วนและไม่ให้เกิดการผูกขาดตลาดทุเรียนของนายทุนต่างชาติ และ (3) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร และเป็นต้นทุนสำหรับต่อยอดในการประกอบอาชีพประมงและการท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพรต่อไป รวมทั้งควรเร่งแก้ไขปัญหาขยะและน้ำเสีย ที่เกิดขึ้นในช่วงผลผลิตทุเรียนออกมาจำนวนมาก ทำให้มีแรงงานและผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาในพื้นที่จำนวนมากก่อให้เกิดขยะครัวเรือน ขยะจากเปลือกทุเรียน และน้ำเสียจากสารเคมีที่ใช้ในการยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสำหรับการส่งออก โดยการนำหลัก BCG model มาใช้ตลอดทั้งห่วงโซ่การพัฒนา เพื่อยกระดับรายได้ให้กับเศรษฐกิจฐานราก

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์