เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2566 นายวิชญ์พิพล ติวะตันสกุล รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการ ได้ร่วมกับคณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (อ.ค.ต.ป.) กลุ่มกระทรวง คณะที่ 2 ซึ่งมี นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ เป็นประธานฯ และอนุกรรมการ ประกอบด้วย 1) นางสาวจิราภรณ์ ตันติวงศ์ 2) นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ 3) นายบุญเลิศ เลิศเมธากุล 4) นางพนิดา ไพศาลยกิจ 5) ผู้แทนที่เลขาธิการสภาพัฒน์มอบหมาย เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และ 6) ผู้แทนที่เลขาธิการ ก.พ.ร. มอบหมาย เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยเป็นการลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานตามประเด็นการตรวจสอบตามห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เรื่อง การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในภาวะวิกฤตให้เข้าถึงบริการภาครัฐเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ที่ อ.ค.ต.ป. กลุ่มกระทรวง คณะที่ 2 กำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมุ่งเน้นการติดตามการดำเนินงานด้านระบบสุขภาพ กรณีการถ่ายโอนหน่วยบริการปฐมภูมิไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ช่วงเช้า เป็นการติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ เทศบาลเมืองบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายทินกร คล้ายกรุต รองปลัดเทศบาลเมืองเมืองบึงยี่โถ กล่าวต้อนรับและบรรยายภาพรวมของพื้นที่ และนายบัณฑิต ตั้งเจริญดี ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ บรรยายสรุปผลการดำเนินงานศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ พร้อมทั้งพาเยี่ยมชมหน่วยบริการที่สำคัญ ได้แก่ คลินิกทันตกรรม คลินิกแพทย์แผนไทยและจีน ศูนย์สันทนาการและฟื้นฟูผู้สูงอายุบึงยี่โถ ซึ่งได้ทำ MOU ร่วมกันระหว่างเทศบาลเมืองบึงยี่โถ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ NOGEZAKA-GLOCAL ประเทศญี่ปุ่น ในการบริการประเมินและรักษาสุขภาพ การจัดกิจกรรมทางสังคมและนันทนาการโดยทีมสหวิชาชีพ และมีกลุ่ม Care Giver เป็นจิตอาสาเข้ามาช่วยเหลือและร่วมจัดกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุ
ช่วงบ่าย เป็นการติดตามการดำเนินงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านฉาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายศักดิ์ชาย ธนะรัชต์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านฉาง กล่าวต้อนรับและบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน และร่วมแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ แกนนำชุมชน จิตอาสา โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านฉาง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแห่งแรกที่ถ่ายโอนมาอยู่ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยอาคารสถานที่และอุปกรณ์บางส่วนได้รับการบริจาคจากคนในพื้นที่ การบริการเน้นการส่งเสริมและป้องกันโรคด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของนในชุมชน มีนวัตกรรมชุมชน "รถพ่วงข้างสร้างเสริมสุขภาพ” เป็นหน่วยตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ ให้บริการในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และเน้นการควบคุมป้องกันโรคที่เกิดจากการร่วมคิดร่วมทำของประชาชนในชุมชน และมี อสม. ช่วยเหลือบริการกลุ่มเปราะบางให้สามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน นายเจริญ ยอดสูงเนิน ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง และเป็นผู้รับบริการจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านฉาง ตั้งแต่ก่อนการถ่ายโอนจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานการถ่ายโอนหน่วยบริการปฐมภูมิไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า หน่วยบริการสามารถพัฒนาปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ได้ครอบคลุมขึ้นมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการหน่วยบริการ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาหนุนเสริมในเรื่องบุคลากรและงบประมาณ อย่างไรก็ตาม มีประเด็นปัญหาของหน่วยบริการที่สำคัญ คือ 1) ปัญหาด้านบุคลากร อาทิ การจัดกรอบอัตรา หรือตำแหน่งที่ไม่สอดคล้องกับงานบริการปฐมภูมิ ,ความก้าวหน้าในอาชีพ 2) ปัญหาด้านกฎ ระเบียบ ที่มีความแตกต่างกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย อาทิ ระเบียบ วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง 3) ปัญหาด้านการเบิกจ่าย ที่สิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ไม่สามารถเบิกจ่ายที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้โดยตรง ทั้งนี้ อ.ค.ต.ป. กลุ่มกระทรวง คณะที่ 2 จะได้รวบรวมประเด็นปัญหา ข้อเสนอแนะจากพื้นที่ จัดทำรายงานผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะ เพื่อเสนอต่อ ค.ต.ป. ให้ความเห็นชอบก่อนที่จะเสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข่าว: กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม (กสท.)
ภาพ: นางสาวโชโนรส มูลสภา (กสท.)
|