ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สรุปการสัมมนาวิชาการเรื่อง Accelerating Innovation and Digitalization in Asia to Boost Productivity
วันที่ 13 ม.ค. 2566
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง Accelerating Innovation and Digitalization in Asia to Boost Productivity ในวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2566 ณ ห้องมณฑาทิพย์ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยมีนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ Dr. Antoinette Sayeh รองกรรมการผู้จัดการ (Deputy Managing Director) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว ทั้งนี้ การสัมมนาประกอบด้วย การนำเสนอรายงานการศึกษาของ IMF และการเสวนาวิชาการ (Panel discussion) จากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีรายละเอียดที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

(1) การนำเสนอรายงานการศึกษาเรื่อง Accelerating Innovation and Digitalization in Asia to Boost Productivity

กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง Accelerating Innovation and Digitalization in Asia to Boost Productivity โดย Dr. Eteri Kvintradze ผู้อำนวยการสถาบัน IMF Capacity Development Office ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นการศึกษาถึงแนวทางการเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการยกระดับนวัตกรรมและการปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลในบริบทของเศรษฐกิจยุคหลังโควิดในภูมิภาคเอเชีย เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Innovation-led growth)

การศึกษาของ IMF พบว่านวัตกรรมด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตั้งแต่ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีบริษัทด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายแห่ง ขณะเดียวกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เร่งให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) และระบบอัตโนมัติ (Automation) จากความจำเป็นและความต้องการในการทำงานซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าภูมิภาคเอเชียมีสัดส่วนของสินทรัพย์ทางปัญญาถึงร้อยละ 50 ของทั่วโลก และหลายประเทศในภูมิภาคมีอัตราการขยายตัวของการค้าเชิงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) สูงมากกว่าร้อยละ 40 ถึงร้อยละ 50

อย่างไรก็ดี หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียยังประสบกับความท้าทายที่หลากหลายแตกต่างกันทั้งในระดับประเทศ ระดับอุตสาหกรรม และระดับบริษัท แม้กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียจะประสบความสำเร็จในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ในการเพิ่มผลิตภาพการผลิต แต่ยังไม่เพียงพอให้เกิดการกระจายตัวทางเทคโนโลยี (Technology diffusion) ไปทั่วทั้งประเทศ สู่ภาคธุรกิจอื่น หรือบริษัทอื่นภายในประเทศเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งผ่านหรือการกระจายตัวของเทคโนโลยีระหว่างบริษัทชั้นนำและบริษัทอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs นอกจากนี้ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายในภูมิภาคส่วนใหญ่ไม่ใช่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ เช่นเดียวกับสัดส่วนการลงทุนในการวิจัยพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำเทียบกับประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมของโลก

ขณะที่ การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ของธุรกิจภายในประเทศภูมิภาคเอเชียก็ประสบปัญหาความท้าทายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการบริหารจัดการ การพัฒนาระบบการทำงานทางไกล และการเพิ่มช่องทางการค้าขายอิเล็กทรอนิกส์ได้ เมื่อพิจารณาในระดับอุตสาหกรรม พบว่าระดับผลิตภาพการผลิตและเทคโนโลยียังมีความแตกต่างกันอยู่มากทั้งระหว่างประเทศชั้นนำและกลุ่มประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค และระหว่างแต่ละอุตสาหกรรมภายในประเทศ นอกจากนี้ งานศึกษายังพบว่าประเด็นความท้าทายหรือปัญหาที่สำคัญของการยกระดับนวัตกรรม ได้แก่ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล โอกาสในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ไม่เท่าเทียม ข้อจำกัดของปัจจัยแวดล้อมด้านกฎหมายและกฎระเบียบ รวมถึงการขาดการดูแลป้องกันด้านข้อมูลและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

สำหรับประเทศไทยพบว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด ผ่านนโยบายปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคใหม่หรือ Thailand 4.0 การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขณะเดียวกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ โดยจากข้อมูลพบว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชากรไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 78 ของประชากรทั้งหมดในปี 2565 เทียบกับประมาณร้อยละ 4 ในปี 2543 สอดคล้องกับมูลค่าของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2560 เป็นร้อยละ 4 ในปี 2564 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยการพัฒนาดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากการพัฒนาระบบชำระเงิน Promtpay ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการยกระดับการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลของประเทศไทย

นอกจากนี้ แม้ว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทยจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย แต่ทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะด้านดิจิทัลของไทยยังคงขาดแคลน โดยผู้ประกอบการเพียงร้อยละ 40 ที่รายงานว่ามีแรงงานฝีมือด้านดิจิทัลที่เพียงพอ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีสัดส่วนของแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย

การศึกษาของ IMF ยังได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการยกระดับองค์ความรู้ทางดิจิทัลรวมถึงการลดช่องว่างของการเข้าถึงดิจิทัลภายในประเทศ ทั้งในระดับอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ และแรงงาน เพื่อที่จะลดช่องว่างของผลิตภาพการผลิตของประเทศต่าง ๆ การศึกษาชิ้นนี้จึงได้เน้นไปที่การปฏิรูปนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป โดยแนวนโยบายที่ผู้ที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ ประกอบด้วย (1) การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยี (2) พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลรวมถึงยกระดับทักษะของแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่อายุยังน้อยให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ (3) ลดข้อจำกัดในการเข้าทุนแหล่งทุนของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้มากขึ้น และ (4) การเพิ่มโอกาสของภาคธุรกิจในการเข้าถึงนวัตกรรม โดยการพัฒนาการกำกับดูแลให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับการพัฒนาของอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงการพัฒนากฎระเบียบต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิด้านข้อมูล ด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการสนับสนุนการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

(2) งานเสวนาวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิ 

งานเสวนาวิชาการมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่สำคัญ ดังนี้ (1) Dr. Antoinette Sayeh รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประเมินว่าปัญหาหลักของการพัฒนานวัตกรรมในภูมิภาคเอเชีย ไม่ได้อยู่ที่ปริมาณของการจดสิทธิบัตร แต่อยู่ที่คุณภาพของสิทธิบัตรที่ยังไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดของการกระจายตัวของความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ยังคงต่ำกว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากมีธุรกิจจำนวนน้อยที่ได้รับประโยชน์จากการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศที่จะสร้างการแพร่กระจายของความรู้ดิจิทัล (2) ดร.เกียรติพงศ์  อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ได้นำเสนอผลการศึกษาของธนาคารโลกที่ศึกษาเกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของอุตสาหกรรมไทยโดยใช้ข้อมูลระดับบริษัท พบว่าประเทศไทยยังมีระดับการกระจายของความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ต่ำทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์จากการค้าและการลงทุน เช่นเดียวกับทักษะแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำ โดยแนวนโยบายที่สำคัญควรให้ความสำคัญได้แก่ การขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขัน การสนับสนุนและผ่อนคลายกฎเกณฑ์การเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการเปิดโอกาสให้มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่มีทักษะสูงที่ขาดแคลน การพัฒนาทุนมนุษย์และทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดและสอดคล้องกับแนวทางในการยกระดับนวัตกรรม (3) ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เห็นว่าการปรับแนวคิดและมุมมองในการดำเนินนโยบายให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รวมทั้งการสร้างความพร้อมให้ Startup ของไทยและสามารถเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าโลกได้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมระดับแนวหน้าได้ อย่างไรก็ตาม Startup ของไทยยังมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ การสร้างรายได้จากนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (4) ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่าระบบการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ โดยควรต้องมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อให้สามารถผลิตบุคคลากรที่มีทักษะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มศักยภาพทรัพยากรบุคคลของประเทศให้มีทักษะที่จำเป็นโดยเฉพาะด้าน ICT เพื่อรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัลตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ในอนาคต (5) นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. ได้ให้ความเห็นว่าแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลในระยะต่อไปควรต้องให้ความสำคัญกับมีปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ (1) การปรับเปลี่ยนกระบวนการออกแบบนโยบายของประเทศด้วยนวัตกรรมเชิงนโยบายที่ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ (Human Centric Approach) และสามารถรองรับความท้าทายที่หลากหลายในอนาคต และ (2) การยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ทั้งการพัฒนาทักษะแรงงานในปัจจุบัน และการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเพิ่มจำนวนประชากรจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาประเทศในทุกมิติ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
13 มกราคม 2566

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์