เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 นายเอนก มีมงคล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการฯ ในประเด็น "การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการพื้นที่และเมือง” ณ ห้องพัชราวดี 1 ชั้น 11 อาคาร 2 โรงแรม ปริ๊นซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 64 คน
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 : ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน กลยุทธ์ที่ 4 การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการพื้นที่และเมือง ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ย่อย ได้แก่ (1) เสริมสร้างสมรรถนะของท้องถิ่นทุกระดับ ให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการพื้นที่และเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ (2) ยกระดับความสามารถทางการเงิน การคลังและการจัดการทุนในระดับพื้นที่ และ (3) สร้างระบบตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาพื้นที่และเมือง การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ตลอดจนนักวิชาการ โดยผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นดังนี้
การพัฒนาเมืองควรพัฒนาให้เหมาะสมกับศักยภาพและอัตลักษณ์ของเมือง ควรบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน และให้ความสำคัญกับพื้นที่เชื่อมต่อโดยใช้ผังภูมินิเวศ รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบัน ซึ่งจะส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกำหนดนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับประเด็นการยกระดับความสามารถทางการเงิน การคลัง และการจัดการทุนในระดับพื้นที่ ควรพิจารณาแหล่งรายได้ใหม่ที่ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารจัดการ และคำนึงถึงความเหมาะสมของขนาดพื้นที่การปกครองเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ในการบริหารจัดการงบประมาณและโครงสร้างพื้นฐาน โดยกลไกการจัดเก็บรายได้ควรมีระเบียบและแนวทางจากหน่วยงานส่วนกลาง
การสร้างระบบตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาเมือง ควรใช้นวัตกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล เช่น การเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่จาก Smartphone ควรมีการจัดทำ City Data Platform เช่น Dashboard เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและการรับรู้ของประชาชนในการพัฒนาเมือง นอกจากนี้ ควรกำหนดตัวชี้วัดเพื่อการติดตามและประเมินผลการพัฒนาเมืองในหลายระดับและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ โดยการติดตามและประเมินผลดังกล่าวควรมุ่งเน้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาเมือง ไม่ใช่เพื่อตรวจสอบหรือตัดสิน
สศช. ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน และจะประมวลผลการประชุมครั้งนี้ร่วมกับการจัดประชุมระดมความคิดเห็นต่อแนวทางการขับเคลื่อนกลยุทธ์อื่นๆ ที่จะจัดขึ้นในโอกาสต่อไป เพื่อนำไปสู่แนวทางการพัฒนาเมือง ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน |