เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด "โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ NESDC Future Team รุ่นที่ 10” เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ ความรู้ความสามารถ และความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้แก่ข้าราชการบรรจุใหม่หรือรับโอนของ สศช. โดยมีผู้เข้ารับการอบรมรวมจำนวน 60 คน ณ ห้องประชุม 511 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
เลขาธิการ สศช. ได้กล่าวแสดงความยินดีและขอบคุณทุกคนที่สนใจเข้ามาทำงานที่สภาพัฒน์ และพร้อมเป็นกำลังสำคัญให้กับสำนักงาน โดยขอให้ทุกคนตั้งใจทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งให้หลักและข้อคิดในการทำงาน ความตอนหนึ่งว่า "การทำงานต้องรู้จักคิดวิเคราะห์ให้รอบคอบและมีคุณภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ในระหว่างการทำงาน พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น”
ในโอกาสนี้ เลขาธิการได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของที่ตั้งสำนักงานว่า เดิมเป็นบ้านของพระยาสุริยานุวัตร นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของไทย ผู้มีส่วนสร้างความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ และเป็นผู้แต่งหนังสือทรัพย์ศาสตร์ ซึ่งจากคุณูปการของท่าน สำนักงานจึงได้ปรับปรุงตึกสุริยานุวัตรที่อยู่ใจกลางสำนักงานเป็น "พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศ” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่เกียรติคุณของพระยาสุริยานุวัตร รวมทั้งการก่อตั้งสำนักงานและประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำหรับโครงการอบรมดังกล่าว กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 29 ธันวาคม 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมและส่งเสริมให้กลุ่มข้าราชการรุ่นใหม่เหล่านี้มีสมรรถนะและศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ภารกิจขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการอบรมแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้ 1. การเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้ผ่าน e-learning ประกอบด้วย (1) ชุดวิชาการเรียนรู้ตามที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด (2) พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ ของสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของข้าราชการ และ (3) "ยุทธศาสตร์ และการนำไปสู่การปฏิบัติ” ซึ่งเป็นระบบการเรียนรู้ผ่าน e-learning ของกองยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ (กยป.) ของ สศช.
2. การอบรมภายใน สศช. ประกอบด้วย (1) การปฐมนิเทศ เพื่อให้เข้าใจถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานของหน่วยงาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ โครงสร้างองค์กร โอกาสในการพัฒนาตนเอง และความก้าวหน้าในอาชีพข้าราชการ รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวินัยของข้าราชการ เพื่อให้มีทัศนคติที่ดีและมีแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ (2) การอบรมหัวข้อ "พระมหากษัตริย์กับการเป็นข้าราชการที่ดี ประโยชน์ของแผ่นดิน บทบาทหน้าที่ และจิตสำนึกของการเป็นข้าราชการที่มีคุณธรรม” โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับข้าราชการจิตอาสา 904 และศูนย์ป้องกันและปราบปรามทุจริต (ศปท.) ของ สศช. (3) หลักสูตร "เทคนิคการเขียนหนังสือราชการและจดรายงานการประชุม” เพื่อให้ได้รับความรู้ รวมถึงเรียนรู้หลักการเขียนหนังสือรูปแบบต่างๆ ของหนังสือราชการและรายงานการประชุม ตลอดจนการสรุปเนื้อหา การเรียบเรียงความคิด และพัฒนาทักษะให้สามารถเขียนหนังสือและรายงานการประชุมประเภทต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง (4) หลักสูตร "การเขียนโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะในการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการต่างๆ ด้วยวิธีการที่ตั้งอยู่บนเหตุผลและข้อมูลที่ชัดเจน และ (5) หลักสูตร "Public Policy เบื้องต้น” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจกระบวนการ และแนวทางในการจัดทำนโยบาย (Policy) และการจัดการภาครัฐ (Public Administration) เพื่อเป็นพื้นฐานการทำงาน
3. การสัมมนาร่วมกัน ณ ต่างจังหวัด ประกอบด้วย (1) การอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ การสื่อสารสำหรับการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติและพฤติกรรมในหลักการการสื่อสารและประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาทักษะในการสื่อสารและประสานงานระหว่างบุคคล ตลอดจนทำงานร่วมกันเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จ และ (2) ศึกษาดูงานการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาพื้นที่เมือง ชุมชน และการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อเรียนรู้แนวทางการดำเนินการตามนโยบายและบริหารของภาครัฐ การมีรส่วนร่วมของภารประชาสังคม การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ตลอดจนร่วมศึกษาการดำเนินการภาครัฐและเอกชน ตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ โดยร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
ข่าว : วันทนีย์ สุขรัตนี
ภาพ : วันทนีย์ สุขรัตนี / จักรพงศ์ สวภาพมงคล |