ข่าวสาร/กิจกรรม
|
การติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคสู่การปฏิบัติ จังหวัดนครศรีธรรมราช
วันที่ 16 ธ.ค. 2565 18:00:38 (จำนวนผู้เข้าชม 18)
|
เมื่อวันที่ 14 – 15 ธันวาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานอนุกรรมการติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก พร้อมด้วย นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม รองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายอุดมเกียรติ เกิดสม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช นางวีนัส นาคสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ และเจ้าหน้าที่สภาพัฒน์ฯ ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อประชุมหารือและรับฟังผลการดำเนินงานโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย
1. โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรณีโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์จากต้นจากและนมควาย ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
2. โครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (Community Cultural Product of Thailand : CCPOT) สู่สากล ของกระทรวงวัฒนธรรม กรณีชุมชนเครือข่ายทางวัฒนธรรมหน้าวัดพระธาตุ (เครื่องถมนคร) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
3. โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กรณีแปลงใหญ่ผัก (ไฮโดรโปรนิกส์) ตำบลนาเคียน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้รับทราบผลการดำเนินงานซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย รวมทั้งได้รับฟังปัญหาอุปสรรค ข้อคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินโครงการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่ในเรื่องการนำหลัก BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) มาใช้ในการพัฒนาชุมชน โดยอาศัยฐานทรัพยากรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ รวมทั้งวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ต่อยอด โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันการศึกษาเข้ามาสนับสนุนการศึกษาวิจัยและการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทุกช่วงวัย การเล่าเรื่องราวเครื่องถมนครความประณีตของศิลปวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักของกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ การถ่ายทอดองค์ความรู้ และพัฒนาทักษะให้กับเยาวชนในพื้นที่ เพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการสืบสาน ต่อยอด และขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตต่อไป สำหรับกลุ่มแปลงใหญ่ผัก (ไฮโดรโปรนิกส์) ควรประสานส่วนราชการในการแก้ไขปัญหาโรคและการฟื้นฟูแปลงที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศลดความเสียหายของผลผลิตและสำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้ามาให้ความรู้และร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกันกับกลุ่มแปลงใหญ่ รวมทั้งควรจัดให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างการเรียนรู้กับกลุ่มแปลงใหญ่อื่น ๆ ที่มีกิจกรรมการผลิตในลักษณะเดียวกัน
|