ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
การติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคสู่การปฏิบัติ จังหวัดสระแก้ว
วันที่ 16 ธ.ค. 2565 19:51:11 (จำนวนผู้เข้าชม  127)
เมื่อวันที่ 13 – 14 ธันวาคม 2565 ดร.สมสุข  ศรีสถิตย์วัฒนา และ ดร.วัชรี  สงวนศักดิ์โยธิน ผู้ทรงคุณวุฒิ และหัวหน้ากำกับการลงพื้นที่ภาคตะวันออก คณะอนุกรรมการติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก พร้อมด้วย นางสาวเพชรรัตน์  สายทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางนภสร  พระยาลอ วัฒนธรรมจังหวัดสระแก้ว นางสาววัลภา  ปันต๊ะ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมพืชน้ำมันและพืชตระกูลถั่ว นายประจักร์  ประสงค์สุข เกษตรจังหวัดสระแก้ว นายฉัตรเกษม  ดาศรี รองผู้อำนวยการงานวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสาวจินนา  ตันศราวิพุธ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคกลาง นางสาวจิตรลดา  พิศาลสุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนยุทธศาสตร์จังหวัด และเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อประชุมหารือและรับฟังผลการดำเนินงานโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่ ได้แก่

1. โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีแปลงใหญ่ผักเพื่อนใจบ้านคลองมะละกอ หมู่ที่ 14 ตำบลสระขวัญ อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว

2. โครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (CCPOT) สู่สากล ของกระทรวงวัฒนธรรม กรณีชุมชนคุณธรรมบ้านใหม่ไทยพัฒนา (ชุดผ้าไหมทอมือมัดย้อม) หมู่ที่ 6 ตำบลหนองตะเคียนบอน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว

3.  โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) กรณีการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์จากดักแด้ไหมอีรี่ ตำบลทัพเสด็จ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

โดยในการลงพื้นที่ได้มีการรายงานผลการดำเนินงานซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ และรับทราบปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ตลอดจนมีการหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็นร่วมกัน ซึ่งจากการลงพื้นที่หัวหน้ากำกับการลงพื้นที่ภาคตะวันออก มีความเห็นว่าการดำเนินโครงการมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในท้องถิ่น ทั้งการช่วยลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ และลดการอพยพย้ายถิ่น อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจตาม BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ที่เน้นการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมูลค่าสูงขึ้น การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด (Zero Waste) และมีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการยกระดับความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยการสนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) การสร้างตราสินค้า (Branding) การสร้างเรื่องราวให้ผลิตภัณฑ์ (Storytelling) การส่งเสริมอัตลักษณ์พื้นถิ่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย มีคุณภาพ และได้รับการรับรองมาตรฐาน อาทิ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มาตรฐานเกณฑ์การผลิตหรือการนำเข้า จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice: GMP) ตลอดจนการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างเพื่อให้เกษตรกรเห็นถึงประโยชน์และรายได้ที่เพิ่มขึ้นและเกิดการเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และผู้ประกอบการรุ่นใหม่เป็นผู้สืบสานอาชีพและวัฒนธรรมของท้องถิ่นและสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงจากผลิตภัณฑ์ของชุมชนสู่การท่องเที่ยว มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนา ต่อยอด และขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดความยั่งยืน นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข็มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากในระยะยาว  





การลงพื้นที่การติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคสู่การปฏิบัติ ภาคตะวันออก ณ จังหวัดสระแก้ว

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์