ข่าวสาร/กิจกรรม
|
การติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคสู่การปฏิบัติ จังหวัดนครปฐม
วันที่ 9 ธ.ค. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม 8)
|
เมื่อวันที่ 6 - 7 ธันวาคม 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันชัย สุทธะนันท์ และ ดร.วัชรี สงวนศักดิ์โยธิน ผู้ทรงคุณวุฒิ และหัวหน้ากำกับการลงพื้นที่ภาคกลาง คณะอนุกรรมการติดตามโครงการภายใต้แผนงานสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก พร้อมด้วย นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ดร.ชัฐพล สายะพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประเมินผล นางลออ จิตต์ชอบ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รองศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา รัตนทับทิมทอง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นางสาวจินนา ตันศราวิพุธ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคกลาง และเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลงพื้นที่จังหวัดนครปฐม เพื่อประชุมหารือและรับฟังผลการดำเนินงานโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่ ได้แก่
(1) โครงการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (CCPOT) สู่สากล กรณีชุมชนคุณธรรมเกาะลัดอีแท่น (ร้านจิราวรรณ เบญจรงค์) ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
(2) โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด กรณีแปลงใหญ่กล้วยไม้ (เจษฎา ออร์คิดส์) ตำบลนราภิรมย์ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
(3) โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) กรณีโครงการการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์น้ำ (กุ้ง) (smartfarming) (พี พี ฟาร์ม) และโครงการศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงปูนาเพื่อสร้างอาหารและรายได้แก่ชุมชน ตำบลสระสี่มุม อำเภอกำแพงแสนจังหวัดนครปฐม ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
หัวหน้ากำกับการลงพื้นที่และผู้ทรงคุณวุฒิรวมถึงคณะผู้ติดตามได้รับทราบผลการดำเนินงานภายใต้โครงการฯ ซึ่งบรรลุผลเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด และรับทราบปัจจัยแห่งความสำเร็จและปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ตลอดจนมีการหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็นร่วมกัน โดยหัวหน้ากำกับการลงพื้นที่ฯ และผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเห็นว่าการดำเนินโครงการควรให้ความสำคัญกับการยกระดับการพัฒนาพื้นที่ให้เชื่อมโยงประโยชน์ลงถึงภาคีเครือข่ายการพัฒนาทั้งองคาพยพ โดยดึงอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นถิ่นมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชน พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการสนับสนุนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนา วิจัยและต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานยิ่งขึ้น ตลอดจนควรมีแนวทางในการสร้างผู้สืบทอดศิลปวัฒนธรรมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเพื่อสืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาให้คงอยู่อย่างยั่งยืน รวมทั้งแสวงหาแนวทางลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ลดการพึ่งพาการใช้สารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว |