ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
คณะกรรมการบริหารองค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF Executive Board) เข้าเยี่ยมคารวะเลขาธิการสภาพัฒน์ และหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนในประเทศไทย
วันที่ 25 พ.ย. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม  44)
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการฯ ให้การต้อนรับคณะกรรมการบริหารองค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF Executive Board) ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเลขาธิการสภาพัฒน์ และหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนในประเทศไทย 

คณะกรรมการบริหาร UNICEF นำโดย Ms. Maritza Chan-Valverde ผู้แทนถาวรสาธารณรัฐคอสตาริกา ประจำองค์การสหประชาชาติ และประธานกรรมการบริหารองค์การกองทุน UNICEF และเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ได้แลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน การดำเนินงานของ UNICEF ในประเทศไทย ตลอดจนความร่วมมือระหว่าง UNICEF และ สศช. ณ ห้องประชุม 521 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมี Ms. Kyungsun Kim, UNICEF Thailand Representative และเจ้าหน้าที่สายงานสังคมเข้าร่วม 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการฯ ได้กล่าวต้อนรับคณะกรรมการบริหาร UNICEF ในโอกาสเยือนประเทศไทยเพื่อศึกษาดูงานการดำเนินงาน  Country program ของ UNICEF ประเทศไทย และได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาเด็กและเยาวชนและแนวทางการพัฒนาที่สำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งเป็นนโยบายระดับชาติ และมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแก้ปัญหาเร่งด่วนจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่ ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (learning loss) ทักษะการเข้าสังคมที่ลดลงจากการไม่ได้ไปโรงเรียน และถึงแม้ว่าระบบคุ้มครองทางสังคมของไทยจะครอบคลุมประชากรทุกช่วงวัย แต่ภาครัฐยังต้องพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมให้กับกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย และการพัฒนาระบบที่สามารถนำเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษากลับสู่การศึกษาและการฝึกอบรม และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปฏิรูประบบการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาระบบดูแลส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานของกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวข้างต้นต้องอาศัยการนำสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและการบูรณาการจากทุกภาคส่วน

Ms. Maritza Chan-Valverde ประธานกรรมการบริหาร UNICEF ได้กล่าวชื่นชมสภาพัฒน์ที่ให้ความสำคัญและการมีเจตจำนงที่แน่วแน่ (political will) ในการลงทุนเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (human capital development) ซึ่งสะท้อนจากการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับชาติ และความร่วมมือกับ UNICEF ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในระดับชาติ โดยเฉพาะการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหาร UNICEF ยังได้ชื่นชมรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย (Early Childhood Development) ความสำเร็จของประเทศไทยในการสร้างความคุ้มครองทางสังคมผ่านการจัดเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 600 บาท (Child support grant) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ดีเลิศที่ประเทศอื่น ๆ สามารถนำไปถอดบทเรียนและประยุกต์ใช้ได้ที่ในระยะต่อไปอาจมุ่งลดความเหลื่อมล้ำและความครอบคลุมที่มากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา (making education a priority) รวมทั้งความเท่าเทียมทางเพศและการส่งเสริมบทบาทสตรีที่มีความก้าวหน้า และการดูแลแรงงานต่างด้าวที่ครอบคลุมและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนในยุคหลังโควิด-19 ที่มีความท้าทายมากขึ้น อาทิ การพัฒนาเด็กแรกเกิด การดูแลสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน การพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพัฒนาการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา การบูรณาการความคุ้มครองทางสังคมเพื่อรับมือกับวิกฤติต่าง ๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้น ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยนายดนุชาฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอการเร่งพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะความรอบรู้ด้านดิจิทัล (digital literacy) ซึ่งต้องพัฒนาควบคู่กับทักษะทางสังคม ขณะเดียวกัน การพัฒนาประชากรวัยแรงงานก็มีความสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยในช่วงการระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยได้พัฒนาเทคโนโลยีและฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือเยียวยาแรงงานกลุ่มดังกล่าว ซึ่งสามารถดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นจาก 13 ล้านคน เป็น 22 ล้านคน อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีกำลังแรงงานทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านคน ซึ่งยังคงต้องมีการพัฒนาระบบและฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ภาครัฐมีขีดความสามารถในการช่วยเหลือคุ้มครองประชากรกลุ่มเปราะบางกลุ่มต่าง ๆ เมื่อเกิดวิกฤติ (crisis and shock) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันการณ์มากขึ้น 

Ms. Maritza Chan-Valverde กล่าวสรุปว่าในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและในรูปแบบแบบใหม่ ๆ อาทิ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศและโรคระบาดซึ่งเป็นความท้าทายต่อการบรรลุวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเด็กยังคงต้องเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ดังนั้น แรงผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในองค์การทางด้านการเงินระหว่างประเทศจากภาครัฐในทุกภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างโลกที่น่าอยู่สำหรับเด็กทุกคน

นายดนุชาฯ กล่าวในตอนท้ายว่า สภาพัฒน์ รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ให้การต้อนรับและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะกรรมการบริหาร UNICEF และมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับ UNICEF ทั้งในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมือทางนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายด้านเด็กและเยาวชนที่มีความครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังต่อไป

ข่าว : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม
ภาพ : จักรพงศ์ สวภาพมงคล

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์