ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
เลขาธิการ สศช. ปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย 2023” ในงานสัมมนา Wealth Forum ลงทุนอย่างไรให้รวย ปี 3
(จำนวนผู้เข้าชม  108)
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย 2023” ในงานสัมมนา Wealth Forum ลงทุนอย่างไรให้รวย ปี 3 จัดโดย "กรุงเทพธุรกิจ” ร่วมกับ "ฐานเศรษฐกิจ” และ "เนชั่นทีวี” ณ ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนภาคเอกชนร่วมนำเสนอทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุน อาทิ นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office ( SCB CIO ) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตราสารหนี้ไทย, นายวรเดช รุกขพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วี บียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด เป็นต้น

นายดนุชา พิชยนันท์ ได้กล่าวปาฐกถาโดยมีใจความสำคัญว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2565 ขยายตัว 4.5% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 แม้ไตรมาสที่ 2 จะไม่ดีมากเนื่องจากต้องเผชิญปัญหา supply chain ของภาคอุตสาหกรรมหดตัว ราคาน้ำมันและความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งปัจจัยที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโต อาทิ อุปโภค-บริโภคภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน ภาคการผลิต และการท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ แม้ไตรมาสที่ 3 จะพบว่าการส่งออกไทยขยายตัวดีขึ้น แต่การนำเข้าสูงตามไปด้วย ส่งผลให้เกินดุลการค้า 14.9 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตเริ่มขยับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์เพราะปัญหาซัพพลายเชนเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตดีขึ้น ในขณะที่การท่องเที่ยวและการจองที่พักขยายตัวร้อยละ 50 ซึ่งเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อัตราการเข้าพักอยู่ที่ 50% ในขณะที่ 9 เดือนแรกการท่องเที่ยวเติบโตร้อยละ 43% จากการเปิดภาคการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนภาคการเกษตรหดตัวเนื่องมาจากอุทกภัย 

ในขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับที่ดีมาก อัตราการว่างงานลดลงจากไตรมาส 2 ที่ 1.37% เหลือ 1.23% เงินเฟ้อเฉลี่ย 7.3% ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดทุนประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่ายังคงต้องจับตามองและต้องเร่งส่งออกในปีหน้าเพื่อให้กลับมาเป็นบวก แม้ว่าทุนสำรองระหว่างประเทศจะยังมีความมั่นคงราว 2 แสนล้านดอลลาร์ก็ตาม ส่วนหนี้สาธารณะอยู่ประมาณ 60.7% ของ GDP ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ ส่วนปัญหาเงินเฟ้อยังเป็นปัญหาที่ต้องติดตามและเป็นตัวที่ทำให้เกิดปัญหาในแง่ของเศรษฐกิจโลก เพราะขณะนี้อัตราการเจริญเติบโตของอเมริกาเศรษฐกิจหลักยังคงลดลง และมีแนวโน้มจะไม่โตอย่างที่คาดไว้

เลขาธิการ สศช. กล่าวด้วยว่า สำหรับรายรับจากการท่องเที่ยวปีนี้จะอยู่ที่ 5.7 แสนล้านบาท ยอดนักท่องเที่ยว 10 ล้านคน ปี 2566 จะอยู่ที่ 22 ล้านคน รายได้อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท และหากจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการในการให้การเดินทางระหว่างประเทศนักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาในประเทศไทยครึ่งหลังของปี 2566 ดังนั้นเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่า GDP จะโต 3.2% ส่วนปีหน้าคาดว่าจะโตที่ประมาณ 3-4% ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดหากส่งออกได้และมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจะทำให้ดุลบัญชีเงินสะพัดกลับมาเป็นบวกได้ ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนหลักในปี 2566 คือภาคการท่องเที่ยว การลงทุนของภาคเอกชน ขณะเดียวกันแนวโน้มนักลงทุนต่างประเทศเริ่มสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจมองหาประเทศที่เป็นกลางอย่างประเทศไทย ซึ่งไทยได้เตรียมในเรื่องของการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศไปบ้างแล้ว นอกจากนี้ อีกส่วนที่สนับสนุนคือ การบริโภคภายในประเทศจะช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศไปได้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น การว่างงานลดลง ส่วนภาคการเกษตรปีหน้าจะขยายตัวได้ดีเพราะปริมาณน้ำที่เกิดขึ้นในปีนี้เพียงพอที่จะสนับสนุนภาคการเกษตร แม้ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมียังต้องนำเข้า และมีราคาสูง รัฐบาลจึงต้องส่งเสริมเกษตรกรในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในชุมชน เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

ในส่วนของการบริหารเศรษฐกิจต่อจากนี้ จะต้องรักษาการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ขณะเดียวกันจะต้องรีบปรับอีโคซิสเต็มที่เกี่ยวข้อง อาทิ อำนวยความสะดวกการลงทุน เพื่อให้นักลงทุนเข้ามาในเมืองไทย จะเห็นได้จากการที่ AWS เข้ามาลงทุน ประเทศไทยต้องหารือและปรับกฎระเบียบต่าง ๆ พอสมควร ซึ่งในระยะถัดไปสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะเปิดประตูให้ต่างชาติเข้ามาอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่ต้องมีทีมที่เข้าไปหารือ เพราะในช่วงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งของต่างประเทศส่งผลให้ภาคธุรกิจที่เป็น Global Company ต้องหาเซฟโซนในการตั้งฐานการผลิต ดังนั้นประเทศไทยเป็นอีกที่สำคัญ จึงต้องพยายามดึงนักลงทุนมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นอนาคตของประเทศ เช่น ชิปต้นน้ำ ที่จะต้องใช้ในเรื่องของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถ EV ดังนั้น ต่อจากนี้จนปี 2566 ต้องเร่งปรับโครงสร้าง กระจายการลงทุนออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ได้อนุมัติเพิ่มเติมทำให้เกิดการกระจายการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่เป็นภูมิภาคของประเทศ การสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะทำให้คนไม่ต้องกลับเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ และมีฐานเศรษฐกิจในภูมิภาค กระจายความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนเรื่องของ EV จะต้องเดินหน้าเต็มที่ตลาดในเมืองไทยค่อนข้างใหญ่และเป็นฐานการส่งออกด้วย เราพยายามสร้างระบบการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ อาทิ แบตเตอรี่ที่จะไม่ใช่การผลิตระดับเซลล์ ส่วน ชิปและซอฟต์แวร์ ขณะนี้มีผู้ประกอบการต่างประเทศหลายรายสนใจตั้งโรงงานในเมืองไทย

รับชมปาฐกถา https://fb.watch/gYktDeRkKi/ 
 
ข่าว : คมสัน  วรวิวัฒน์
ขอขอบคุณภาพจากกรุงเทพธุรกิจ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์