ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  การเตรียมพร้อมขับเคลื่อนแผนฯ 13 สู่การปฏิบัติ: หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่  ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน
วันที่ 28 ต.ค. 2565 (จำนวนผู้เข้าชม  7)
สศช. จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สศช. (NESDC KM: Knowledge Sharing Session) 
การเตรียมพร้อมขับเคลื่อน
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) สู่การปฏิบัติ: 
หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 นายเอนก  มีมงคล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานและกล่าวเปิดการอบรมโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สศช. (NESDC KM: Knowledge Sharing Session) ในหัวข้อ "การเตรียมพร้อมขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) สู่การปฏิบัติ หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน” ณ ห้องประชุม 511 สศช. และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวิทยากร 2 ท่าน ได้แก่ ดร. กฤติมา  ลี่รัตนวิสุทธิ์ และ ดร. อดิศร์  อิศรางกูร ณ อยุธยา และมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้รวมทั้งสิ้น 25 คน 

ดร.กฤติมา  ลี่รัตนวิสุทธิ์ ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ท้องถิ่น โครงการเมืองแห่งอนาคตระดับโลก โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) นำเสนอเนื้อหาเรื่อง การเก็บมูลค่าที่ดิน (Land Value Capture: LVC) สรุปได้ว่า การลงทุนของรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในเมืองเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลให้ราคาที่ดินสูงขึ้นและเพิ่มโอกาสในเชิงธุรกิจสำหรับภาคเอกชน ดังนั้น ภาครัฐควรพิจารณาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเจ้าของที่ดินหรือนักลงทุนกลับคืนสู่สังคม ตามหลักความเป็นธรรมแบบผู้ได้รับผลประโยชน์เป็นผู้จ่าย (Beneficiary Pay Principle) ด้วยแนวคิด การเก็บมูลค่าที่ดิน (LVC) ซึ่งสามารถลดภาระงบประมาณและการหาแหล่งเงินทุนสำหรับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน 
          ทั้งนี้ LVC มีประโยชน์หลายมิติ ได้แก่ (1) ประสิทธิภาพ (Efficiency) ในการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด (2) ความเท่าเทียม (Equity) มุ่งกระจายผลประโยชน์ให้ประชาชนอย่างทั่วถึง (3) ความเป็นไปได้ทางปฏิบัติ (Pragmatic) โดยสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น มาตรการด้าน LVC จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ (1) Tax or Fee Based LVC เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (Property and Land Tax) การเก็บค่าพัฒนาพื้นที่ (Betterment Charge) การประเมินพิเศษ (Special Assessment Levy) และการระดมทุนจากส่วนเพิ่มภาษี (Tax Incremental Financing) เป็นต้น (2) Development Based LVC เช่น การขายหรือเช่าที่ดิน (Land Sale or Lease) การพัฒนาร่วมกัน (Joint Development) การจัดรูปที่ดิน (Land Readjustment) การฟื้นฟูเมือง (Urban Redevelopment Schemes) การจัดรูปที่ดิน (Land Readjustment) การพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (Transit Oriented Development: TOD) การโอนสิทธิการพัฒนา (Transfer of Development Rights: TDR) การขายสิทธิ์ในอากาศ (Air Rights Sale) ด้วยการเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลง อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio: FAR) เป็นต้น พร้อมทั้งนำเสนอโครงการ Certificate for Potential Additional Construction (CePACs) ของประเทศบราซิล ซึ่งประยุกต์ใช้แนวคิด การขายสิทธิ์ในอากาศ เพื่อระดมเงินทุนสำหรับก่อสร้างระบบทางหลวงและถนนขนาดใหญ่

ดร.อดิศร์  อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นำเสนอเนื้อหา เรื่อง ภาษีลาภลอย (Windfall Tax) ว่า ประเทศไทยมีระบบการจัดเก็บภาษีมาในอดีตยาวนานตั้งแต่สมัย สุโขทัยและอยุธยา จนถึงปัจจุบัน และมีการพัฒนาระบบภาษีใหม่ ๆ ให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น ภาษีการค้าออนไลน์ โดยกระทรวงการคลังมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีจากกรมสรรพากรมากที่สุด เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น 
          สำหรับหลักการสำคัญของภาษี ประกอบด้วย (1) การส่งสัญญาณทางราคา (Price Signal) เพื่อปรับราคาสินค้าให้สะท้อนต้นทุนทางสังคมอย่างครอบคลุมเหมาะสม โดยสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจน้อยที่สุด เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (2) การถ่ายโอนทรัพยากร (Resource Transfer) เพื่อสร้างรายได้ให้รัฐและลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การลดหย่อนภาษีค่าเลี้ยงดูบุตรและบุพการี การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีธุรกิจขาดทุน และ (3) การคืนทุนให้รัฐ (Cost Recovery) เพื่อลดภาระทางการเงินการคลังของรัฐ เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานแห่งชาติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อสร้างรายได้ให้หน่วยงานในการให้บริการสาธารณูปโภค  ดังนั้น การประยุกต์ใช้มาตรการ LVC ด้วยภาษีลาภลอย (Windfall Tax) หรืออาจเรียกว่าการเก็บค่าพัฒนาพื้นที่ (Betterment Charge) ควรยึดหลัก เรื่องการคืนทุนให้รัฐเป็นสำคัญ ในการกำหนดอัตราจัดเก็บที่เหมาะสม เนื่องจากประชาชนหรือเอกชนบางส่วนได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้น จากการก่อสร้างถนน และระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ  

โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สศช. ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ เกี่ยวกับการเก็บมูลค่าที่ดิน (Land Value Capture: LVC) และ ภาษีลาภลอย (Windfall Tax) อันจะเป็นประโยชน์สำหรับการนำไปประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 โดยเฉพาะหมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายหลักสำคัญประการหนึ่ง คือ การพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน มีความพร้อมในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์